วิทยาเขตกำแพงแสน

เว็บไซต์งานธุรการกำแพงแสน

 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นส่วนหนึ่งของคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายขยายการศึกษาออกนอกเขตเมืองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการทดลอง การปลูกพืชแปลงหญ้าและด้านปศุสัตว์ที่สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่ศึกษาทางด้านการเกษตร และให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องเปิดให้มีการเรียนการสอนตามนโยบายดังกล่าว ในปี พ.ศ.2522 จึงได้ย้ายนิสิตชั้นปีที่ ๕ และชั้นปีที่ ๖ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อเพิ่มความรอบรู้ของบัณฑิตทางด้านปศุสัตว์อย่างเป็นทางการ และมีพัฒนาการต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับปรุงหลักสูตรให้นิสิตชั้นปีที่ 4 เริ่มมาเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมีหน่วยงานรองรับการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ แก่นิสิตและชุมชนใกล้เคียงในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก รวมถึงชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด ๕ ภาควิชา คือ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุขศาสตร์ และภาควิชาพยาธิวิทยา ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการรักษาสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ และสัตว์ป่า ได้แก่ ช้าง เสือ กวาง ชะนี และเลียงผา สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ สุกร สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ และสัตว์เลี้ยงได้แก่ สุนัข แมว และม้า เป็นต้น

นอกจากนี้มี 5 หน่วยงานที่ให้บริการวิชาการ คือ หน่วยงานสัตว์ทดลอง กำแพงแสน หน่วยงานชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน และมีโรงพยาบาลสัตว์ 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนองโพ และโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ หัวหิน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและประสบการณ์ด้านคลินิกของนิสิตสัตวแพทย์ และเพื่อเพิ่มความรอบรู้ของบัณฑิตทางด้านปศุสัตว์ รวมถึงการให้บริการรักษาสัตว์นอกสถานที่ทั้งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะการจัดการด้านสุขภาพระดับสูงในโคนมและสุกร และมีบางส่วนเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งทั้งหมดมีการดำเนินการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่มีการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย และพร้อมในการให้บริการในภาคสนาม

 "กว่าจะมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน"
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดให้มีการเรียนการสอนที่เกษตรกลาง บางเขน ตั้งแต่ปี 2510 ก่อนหน้านี้การเรียนการสอนจะดำเนินการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าคณะฯ จะสังกัดอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตาม หลักสูตรที่สอนที่คณะฯจะเน้นทางด้านสัตว์เศรษฐกิจเป็นหลัก เมื่อเริ่มเปิดสอนปีแรกมีนิสิตเพียง 4 คน ปีต่อมาเพิ่มเป็น 10 คน และค่อยๆเพิ่มขึ้นตามลำดับ สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในช่วงปีแรกมีสภาพเป็นชนบท มีการเลี้ยงไก่ สุกร และโคบ้างก็เปลี่ยนไปกลายเป็นสภาพเมือง มีหมู่บ้าน ร้านค้า เข้ามาแทน ทาง คณะฯได้ประสบปัญหาด้านการเรียนการสอนสัตว์เศรษฐกิจ ไม่มีสัตว์ป่วย ไม่มีฟาร์มที่จะพานิสิตออกไปฝึกภาคปฏิบัติ ทางคณะฯจึงเริ่มมองหาแหล่งที่จะไปตั้งโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อให้นิสิตได้ฝึกภาคปฏิบัติการด้านสัตว์เศรษฐกิจโดยมุ่งไปที่จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงสุกรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สัตว์ปีกก็มีพอสมควรและอยู่ใกล้จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการเลี้ยงโคนมอยู่เป็นจำนวนมาก และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ทั้ง 2 แห่งนี้อยู่ในความสนใจของคณะฯที่จะไปเปิดการให้บริการทางวิชาการและใช้เป็นที่ให้นิสิตได้ฝึกภาคปฏิบัติ

ทำไมถึงต้องสร้างคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตกำแพงแสน
ในช่วงที่หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านมองเห็นว่า ต่อไปในอนาคตเกษตรกลางบางเขนจะแออัด คับแคบ และไม่เหมาะกับหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนทางภาคเกษตร เพราะเนื้อที่ที่จะใช้ศึกษาทดลองเกี่ยวกับการเกษตรจะลดน้อยลง และจะมีการขยายงานการศึกษาทางด้านสังคมมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกลางบางเขนต่อไป ก็จะกลายเป็นเขตเมือง ไม่ได้มีสภาพเป็นชนบทเหมือนเดิมอีก จึงคิดจัดตั้งวิทยาเขตสำหรับหน่วยงานที่มีการศึกษาเกี่ยวกับภาคเกษตร เพื่อที่จะได้ขยายงานออกไปจึงได้รวบรวมพื้นที่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมมีราคาไม่สูงนัก เป็นจำนวน 8,000 ไร่ เพื่อใช้รับรองการขยายตัวของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต่อไปประกอบกับในช่วงนั้น ทางธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนเงินกู้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำไปพัฒนาบุคลากร และการเรียนการสอน โดยก่อสร้างอาคารเรียน และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยความเห็นชอบของรัฐบาล จึงทำให้โครงการที่วิทยาเขตกำแพงแสนเป็นรูปร่างขึ้นมา

หน่วยงานที่อยู่ในข่ายที่จะต้องไปเปิดการเรียนการสอน ที่วิทยาเขตกำแพงแสนในขณะนั้น มี 4 คณะวิชา คือ คณะเกษตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะประมง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีโรงเรียนสาธิตของคณะศึกษาศาสตร์ ไปเปิดเพื่อให้บริการแก่บุตรของข้าราชการที่ทำงานในวิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อรู้ว่าคณะฯ จะต้องไปเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสนตามนโยบายของทางมหาวิทยาลัย ก็มีคณาจารย์หลายท่านช่วยกันไปดูทำเลที่จะตั้งคณะฯซึ่งเห็นชอบตรงกันว่า ควรอยู่ติดถนนใหญ่ เพื่อความสะดวกในการมาให้บริการ การตรวจรักษาสัตว์ป่วยให้กับเกษตรกร แต่เมื่อผังรวมของวิทยาเขตได้ถูกกำหนดขึ้น ปรากฏว่าเขตการศึกษา ถูกวางไว้บริเวณตรงกลางของพื้นที่ และมีพื้นที่เพื่อการทดลองอยู่โดยรอบ คณะฯของเราก็เลยต้องอยู่ในเขตดังกล่าวนี้ด้วย

เมื่อรู้ว่าจะต้องย้ายคณะฯ มาเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน ทางคณะฯก็ได้มีการออกแบบอาคารเรียน โรงพยาบาล ร่วมกับสถาปนิกของมหาวิทยาลัย ซึ่งในระยะแรกจะมีอาคารพรีคลินิก 1 หลัง อาคารโรงพยาบาลสัตว์ 1 หลัง อาคารสำหรับผ่าซากของภาควิชาพยาธิ 1 หลัง โรงเรือนสัตว์ป่วย 1 หลัง และบ้านพัก ซึ่งมีหน่วยบริการรักษาสัตว์เคลื่อนที่ร่วมอยู่ด้วย 1 หลัง ลักษณะของอาคารทางสถาปนิกได้ออกแบทรงเตี้ยและปิดทึบ เพราะจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งหมดแต่ตอนหลังงบประมาณไม่เพียงพอ จึงทำให้ไม่สามารถติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าวจนไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทางคณะฯต้องหางบประมาณติดตั้งเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถดำเนินการเรียนการสอนได้

สำหรับงานฟาร์มสัตว์ทดลอง ทางคณะฯ ได้ขอใช้พื้นที่ทางด้านข้างของ  คณะฯแต่อยู่อีกฟากหนึ่งของถนน มีพื้นที่ประมาณ 90 ไร่ ได้ก่อสร้างโรงเรือนเล็กๆ เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงสุกร พื้นที่ส่วนนี้ตั้งใจจะทำเป็นแปลงหญ้าเพื่อเลี้ยงโค แต่ปรากฏว่าดินมีลักษณะเค็มจัด ปลูกหญ้าไม่ค่อยขึ้น จึงต้องเลิกล้มความคิดและใช้เป็นที่เลี้ยงโค โดยสร้างโรงเรือนชั่วคราว เพื่อให้นิสิตได้ใช้ศึกษาในภาคปฏิบัติ

การก่อสร้างอาคารทั้งหมดได้แล้วเสร็จประมาณปี 2522 ทางคณะฯ จึงได้ย้ายนิสิตชั้นปีที่ 5 และ 6 ไปเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน ในระยะแรกๆ ก็ประสบปัญหาค่อนข้างมาก เพราะบุคลากรที่สอนเกือบทั้งหมด ยังอยู่ที่เกษตรกลางบางเขน การเดินทางมาสอนมักจะเกิดปัญหาความล่าช้าเข้าสอนสาย และรีบๆสอน เพื่อเดินทางกลับบางเขนให้ทันรถของมหาวิทยาลัยที่ให้บริการอยู่ บรรยากาศการเรียนการสอนจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น นิสิตเองก็ว้าเหว่ ไม่ค่อยได้พบอาจารย์ผู้สอน นอกจากในชั่วโมงสอนเท่านั้น ซึ่งต่อมาทางคณะฯ ก็ได้มีคำสั่งย้ายบุคลากรที่มีภาระหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ไปประจำที่วิทยาเขตกำแพงแสน และขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดบ้านพักให้ จึงมีบุคลากรส่วนหนึ่งมาอยู่ประจำ เมื่อคณะฯ ได้อัตราใหม่ ก็จะบรรจุให้ทำงานที่วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อแก้ปัญหาด้านบุคลากร ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนของคณะฯที่กำแพงแสนดีขึ้น มี ACTIVITY เพิ่มมากขึ้น

งานด้านการชันสูตรโรคสัตว์และบริการวิชาการ
เมื่อคณะฯ ย้ายมาเปิดการเรียนการสอน และให้บริการทางวิชาการ เช่น การตรวจวินิจฉัยโรคการรักษาสัตว์ป่วย ก็พบว่ามาปัญหาที่สำคัญตามมา คือ งานชันสูตรโรคสัตว์ที่มีอยู่ยังไม่เข้มแข็งพอ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรได้ทันท่วงที ทางคณะฯจึงได้จัดหางบประมาณเพิ่มเติมให้เท่าที่จะจัดได้ประกอบกับบุคลากรที่ทำงานประจำที่วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทุ่มเทการทำงานอย่างหนัก ทำให้งานชันสูตรโรค สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถให้บริการและแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องพัฒนางานนี้ให้สมบูรณ์ ทันสมัยต่อไป

งานฟาร์มสัตว์ทดลอง
เป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งสำหรับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยเป็นการสร้างประสบการณ์และสร้างความมั่นใจให้นิสิต เมื่อตอนรู้ว่า คณะฯ จะต้องไปเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน ก็ได้ไปสำรวจพื้นที่ทางด้านหลังของวิทยาเขต ติดกับคลองชลประทาน เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับก่อสร้างงานฟาร์มสัตว์ทดลอง โดยมีความคิดจะทำเป็นฟาร์มตัวอย่าง มีการคัดเลือกพันธุ์ การจัดการที่ดี เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและสามารถนำไปปรับใช้กับฟาร์มของตนเองแต่ความคิดดังกล่าว ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากว่ามีคณะอื่นๆ ได้จับจองพื้นที่ดังกล่าวไว้หมดแล้ว

แต่ในที่สุด ในระยะหลังนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้อนุเคราะห์จัดพื้นที่ให้ทางคณะฯ ได้ดำเนินการจัดสร้างฟาร์มสัตว์ทดลองขึ้น ซึ่งมีทั้งโคนม สุกร และสัตว์ปีก ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณที่เคยไปดูไว้ในครั้งแรกไม่มากนักจึงนับเป็นโอกาสดีที่คณะฯ จะได้เริ่มงานฟาร์มสัตว์ทดลองที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น

สำหรับนโยบายที่จะย้ายคณะสัตวแพทยศาสตร์ไปที่วิทยาเขตกำแพงแสนทั้งหมด ก็ได้มีการปรับให้มีการย้ายไปเพียงบางส่วนเพื่อประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอน และการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยให้ทางภาควิชาพรีคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์เล็กยังคงอยู่ที่บางเขน ส่วนภาควิชาทางคลินิกให้ย้ายไปอยู่ที่วิทยาเขตกำแพงแสน

โรงพยาบาลสัตว์หนองโพ (โรงพยาบาลสัตว์แห่งแรกของสถาบันการศึกษาในชนบท)
เมื่อพูดถึงคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน แล้วไม่พูดถึงโรงพยาบาลสัตว์หนองโพ ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป เพราะโรงพยาบาลสัตว์หนองโพถือเป็นส่วนหนึ่งของคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน

ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเน้นการเรียนการสอนทางด้านสัตว์เศรษฐกิจ การจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มาตั้งคณะใหม่ๆ พื้นที่โดยรอบวิทยาเขต จะเต็มไปด้วยไร่อ้อยเป็นส่วนใหญ่มีการเลี้ยงเป็ดและสุกรอยู่บ้าง ตอนนั้นคณะฯ มีความตั้งใจว่า จะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น โคนม สุกร และสัตว์ปีก รอบๆ วิทยาเขต แต่ปัญหาในขณะนั้นก็คือ ยังไม่มีสัตว์เศรษฐกิจให้นิสิตได้ศึกษาและปฏิบัติอย่างเพียงพอ ดังนั้น ความคิดที่จะหาแหล่งที่มีการเลี้ยง  ปศุสัตว์เป็นจำนวนมาก จึงได้กลับมาอีก ตำบลโพธาราม จังหวัดราชบุรี จัดเป็นแหล่งที่มีความพร้อมที่จะไปตั้งหน่วยงาน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่เกษตรกร และใช้ฝึกสอนนิสิตทางด้านปฏิบัติได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยง  โคนมมากที่สุดในประเทศไทย จนสามารถจัดตั้งเป็นสหกรณ์โคนมในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีฟาร์มสุกรอยู่มากพอสมควร และยังอยู่ใกล้จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงสุกรมากที่สุดอีกด้วย ดังนั้น ทางคณะฯ จึงตกลงใจเลือกสถานที่นี้ในการตั้งหน่วยงาน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวร ทางคณะฯ ได้ทดลองทดสอบความนิยมของเกษตรกรที่จะใช้บริการของคณะ โดยได้ไปเช่าห้องแถว ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับสถานที่ตั้งโรงพยาบาลสัตว์หนองโพ ในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว โดยจัดอาจารย์ 2 นาย คือ อาจารย์สุวิชัย โรจนเสถียร และอาจารย์     ศิริชัย วงศ์นาคเพ็ชร อยู่ประจำ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร ทางคณะฯ ได้จัดรถไว้ให้ 1 คัน เพื่อให้บริการนอกสถานที่ และมีอาจารย์สมุทร สิริเวชพันธุ์ และอาจารย์ประพันธ์ เกษสังข์ ไปช่วยเป็นครั้งคราว โดยให้บริการอยู่เกือบ 2 ปี ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ทางคณะฯ จึงดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์หนองโพขึ้น เพื่อให้บริการแก่การเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และเป็นสถานที่ฝึกของนิสิต โดยมอบให้ข้าพเจ้าติดต่อกับทางสหกรณ์โคนมหนองโพ ให้ช่วยจัดหาสถานที่ให้ ทางคณะฯ จะได้ของบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารต่อไป ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปปรึกษากับ คุณประยูร- แจ่มเวหา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของสหกรณ์โคนมหนองโพซึ่งท่านก็เห็นด้วยและยินดีช่วย โดยจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการของสหกรณ์ และขอให้ข้าพเจ้าเข้าไปชี้แจงรายละเอียดของวัตถุประสงค์ในการมาตั้งโรงพยาบาลด้วย ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปชี้แจงในที่ประชุมฯและได้รับความร่วมมือด้วยดี แต่คณะกรรมการไม่สามารถใช้เงินของสหกรณ์ฯ มาจัดซื้อที่ดินมอบให้แก่ทางคณะฯได้ และได้แนะนำให้ข้าพเจ้าไปชี้แจงในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์เพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้สมาชิกทั้งหมดได้ทราบถึงผลประโยชน์ที่ทางสมาชิกจะได้รับ และประโยชน์ที่นิสิตนักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาชีพนี้จะได้รับ สมาชิกในที่ประชุมใหญ่ก็เห็นชอบให้กรรมการของสหกรณ์ดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้แก่ทางคณะฯได้

หลังจากได้รับมอบที่ดินแล้วคณะฯก็ได้ไปสร้างอาคารชั้นเดียวหลังเล็กๆ เพื่อใช้เป็นที่ทำการและเก็บรถยนต์ที่ใช้บริการนอกสถานที่ 1 หลัง และสร้างบ้านพักของอาจารย์และนิสิตอีก 1 หลัง เป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง เพื่อเปิดให้บริการแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และเริ่มส่งนิสิตไปฝึกงานเมื่อได้ดำเนินการไปช่วงระยะหนึ่งคณะฯก็ดำเนินการของบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสัตว์ แต่ได้รับการทักท้วงจากสำนักงบประมาณว่าสถานบันการศึกษาต้องไปสร้างโรงพยาบาลสัตว์ในชนบทด้วยหรือเห็นมีแต่กระทรวง กรม เท่านั้น  ที่ไปสร้างโรงพยาบาลในชนบท ส่วนคณะวิชาต่างๆ มักจะสร้างโรงพยาบาลไว้ในส่วนของคณะเอง ข้าพเจ้าจึงได้พาเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไปดูโรงพยาบาลสัตว์ที่บางเขน ซึ่งมีแต่สัตว์เลี้ยงเท่านั้นที่มารับบริการและที่โรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน ซึ่งก็มีสัตว์เลี้ยง สุกร และสัตว์ปีกบ้างที่มาขอใช้บริการ และได้เรียนให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณได้ทราบว่า คณะฯ มีความประสงค์จะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทางด้านปศุสัตว์ออกไปรับใช้สังคม โดยเฉพาะโคนม ซึ่งนับวันจะได้รับความนิยมจากเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ที่ตำบลหนองโพ ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงโคนมมากที่สุดในประเทศไทยเกษตรกรผู้เลี้ยงมีความต้องการที่จะใช้บริการทางด้านสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก โดยจัดซื้อที่ดินมอบให้แก่ทางคณะฯเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสัตว์ต่อไป ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์บนที่ดินดังกล่าวนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้รับประโยชน์แล้ว ทางคณะฯเองก็ได้รับประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอน  การค้นคว้าวิจัย และการฝึกภาคปฏิบัติของนิสิตอีกด้วย ทางสำนักงบประมาณจึงได้จัดสรรงบประมาณมาให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์หนองโพ หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็สามารถเปิดบริการให้แก่ประชาชนทั้งทางด้านสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งก็มีผู้มาขอใช้บริการจากจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ต่อจากนั้นคณะฯ ได้ของบประมาณเพื่อก่อสร้างหอพักนิสิต อาจารย์ และห้องประชุมเพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : บทความ กว่าจะมาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
รศ.พิบูล ไชยอนันต์
คณบดีคนที่ 4 และรองคณบดี วิทยาเขตกำแพงแสน คนแรก