รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 รองกงสุลไทย เมืองเชนไนได้ติดต่อ รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ มาว่าขอให้ทีมสัตวแพทย์ไทยที่มีความชำนาญเรื่องช้างช่วยเหลือสัตวแพทย์ชาวอินเดียรักษาช้าง “ภะวาตี” ที่มีอาการตาเจ็บทั้งสองข้าง สาเหตุที่มีการติดต่อมานั้นเนื่องจากทางกงสุลใหญ่ของไทย (นายนิธิรุจน์ โผนประเสริฐ) ที่เมืองเชนไน ได้จัดงานกระชับความสัมพันธ์ในโอกาสครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยและอินเดีย และในงานนั้นได้เรียนเชิญท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและทรัพยากรมนุษย์แห่งรัฐทมิลนาฑู (Dr. Palanivel Thiaga Rajan) มากล่าวปาฐกถา ซึ่งความตอนหนึ่งของการปาฐกถาท่านรัฐมนตรีได้กล่าวถึงช้างเพศเมียชื่อภะวาตี อายุ 26 ปีซึ่งเป็นช้างของวัด Meenakshi Sundareshwarar Temple ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญมากของเมืองมาดูไร ที่มีอาการตาเจ็บเรื้อรังทั้งสองข้างและรักษามาหลายปีโดยทีมสัตวแพทย์ชาวอินเดียและอาการยังไม่ดีขึ้น จึงอยากให้ทางกงศุลไทยนั้นติดต่อหมอช้างไทยที่มีความชำนาญไปช่วยวินิจฉัยและรักษาและยังทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอความช่วยเหลือมายังสถานกงศุลไทยอีกด้วย จากนั้นทางกงสุลไทยจึงติดต่อมายัง รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ เพื่อขอให้จัดทีมหมอช้างไทยที่จะไปช่วยวางยาสลบช้างเพื่อให้สัตวแพทย์อินเดียทำการผ่าตัดรักษาด้วยทีมสัตวแพทย์ของอินเดียเอง แต่ทั้งนี้จะขอนัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างทีมรักษาทั้งอินเดียและไทยก่อนในวันที่ 26 เมษายน เมื่อรศ.นิกร ได้ทราบเรื่องจึงได้เชิญหมอช้างผู้เชี่ยวด้านต่างๆของไทยจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และสัตวแพทย์จาก โรงพยาบาลสัตว์เอกชน รวมทั้งสิ้นเป็นทีมไทยทั้งหมด 6 คน เข้าประชุมกับทีมสัตวแพทย์อินเดีย นำโดย Prof.Dr. Ramani Chandresekar จาก Department of Clinics, Madras Veterinary College, Chennai, Tamil Nadu และสัตวแพทย์ชาวอินเดียอีก 5 คน ผลจากการประชุมปรากฏว่าทางทีมสัตวแพทย์อินเดียเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถผ่าตัดรักษาได้ ต้องการให้ทีมไทยเดินทางไปร่วมวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของตาช้างด้วยกันมากกว่า ทางทีมไทยจึงขอจัดประชุมอีกครั้งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แล้วเชิญ รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาในสัตว์ของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ผลการประชุมพบว่ามีความเห็นตรงกันว่าอาจจะไม่ต้องทำการผ่าตัด แต่ทั้งนี้ควรมีการตรวจตาช้างภะวาตีร่วมกันในสถานที่จริงๆและตรวจตาช้างจริงๆ พร้อมกัน จากนั้นทางฝั่งกงศุลไทยจึงประสานท่านรัฐมนตรีและทางวัด Meenakshi Sundareshwarar แจ้งถึงการขอการสนับสนุนให้ทีมสัตวแพทย์ไทยจากสี่หน่วยงานรวมทั้งสิ้นเจ็ดคนนำโดย รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ เดินทางไปเมืองมาดูไร เพื่อร่วมตรวจตาช้างภะวาตี ซึ่งทางท่านรัฐมนตรีและทาวัดก็ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต่อมาทางกงศุลไทยเชนไนจึงออกหนังสือเชิญทีมสัตวแพทย์ไทยไปยังทั้งสี่หน่วยงานเพื่อขอให้ต้นสังกัดอนุมัติเดินทาง ซึ่งหนาวยงานต้นสังกัดของทุกหน่วยงานก็ยินดีอนุมัติให้เดินทางได้ โดยทีมสัตวแพทย์ไทยได้เดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับที่สัตวแพทย์อินเดียในวันที่ 26-27 มิถุนายน 2565 ซึ่งผลการปฏิบัติงานร่วมกันในการวินิจฉัยอาการตาเจ็บของช้างภะวาตีนั้นพบว่า ภะวาตีมีอาการภาวะตาเคลื่อน (lens luxation) ทั้งตาซ้ายและตาขวา โดยที่ตาซ้ายนั้นมีการมองเห็นประมาณ 30% ส่วนตาขวานั้นมีการมองเห็นประมาณ 80% และไม่ควรทำการผ่าตัดรักษาเนื่องจากโครงสร้างภายในลูกตาที่ยึดโยงเลนส์ไว้ให้อยู่กับที่นั้นเสียหายไปหมดแล้ว การผ่าตัดตาเพื่อเปลี่ยนเฉพาะเลนส์ออกนั้นจึงทำไม่ได้ นอกจากนี้การผ่าตัดอาจจะทำให้เกิดความเสียหายของน้ำในลูกตาและจอรับแสงของตาได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เกิดการตาบอดอย่างถาวรขึ้นได้ ดังนั้นการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยการลดการอักเสบ การให้ยาฆ่าเชื้อเมื่อจำเป็นและการให้ยาบำรุงดวงตาจะช่วยให้ช้างมองเห็นและช่วยตัวเองได้ นอกจากนี้ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการพัฒนาระบบประสาทที่มาชดเชยกกการมองเห็นได้ทั้งการดมกลิ่นด้วยงวง การกะระยะด้วยงวง การฟังด้วยหู และการตรวจจับคลื่นเสียงสะท้อนขนาดต่ำที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยิน ดังนั้นการจำกัดพื้นที่ให้ช้างอยู่อาศัยที่ช้างคุ้นเคยและจำได้จะทำให้ช้างสามารถอยู่ในสถานที่นั้นได้อย่างไม่ลำบากและช้างจะยังคงมองเห็นไปอีกอย่างน้อยเจ็ดปีเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นที่มีอาการเดียวกัน แต่ทั้งนี้ช้างจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากควาญที่เลี้ยง ดูแลสุขลักษณะการสุขาภิบาลที่ดีอย่าให้กลิ่นปัสสาวะที่มีแอมโมเนียสูงระเหยจนระคายเคืองตาช้าง รวมทั้งกำจัดกลิ่นของอุจจาระให้ดี นอกจากนี้ช้างควรได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้อ้วนเกินไป ซึ่งทั้งนี้ทางฝ่ายอินเดียและไทยมีความเห็นที่ตรงกันและได้รายงานให้กับทางท่านรัฐมนตรีและทางวัดอย่างเป็นลายลักษร์อักษรแล้ว เมื่อปฏิบัติงานเสร็จทางทีมไทยได้เดินทางกลับประเทศไทยอย่างสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาทางกงศุลไทยได้ส่งหนังสือขอบคุณกลับมายังหน่วยงานต่างๆที่เดินทางร่วมไปในการทำงานครั้งนี้ด้วยแล้ว

 

ทีมสัตวแพทย์ไทย

- รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์, ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก.

- รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์

- น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควาณิช, สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์, น.สพ.เพ็ชรธิศักดิ์ สมบัติภูธร สถาบันคชบาลแห่งชาติ

- สพ.ญ.ดร.วัลยา ทิพย์กันทา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

Prof.Dr. Ramani Chandresekara จาก Department of Clinics, Madras Veterinary College, Chennai, Tamil Nadu

 

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและทรัพยากรมนุษย์แห่งรัฐทมิลนาฑู (Dr. Palanivel Thiaga Rajan)