แมลงแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน (Insects as sustainable protein sources)

หัวข้องานวิจัย     แมลงแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืน (Insects as sustainable protein sources)
ผู้ดำเนินการ    ผศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที


ความสำคัญและที่มา
    ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีการส่งออกเนื้อสัตว์จำนวนมากซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศชาติ อาหารสัตว์ถือว่าเป็นต้นทุนหลักในด้านการผลิตสัตว์และส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากสัตว์โดยตรงโดยเฉพาะวัตถุดิบโปรตีน แหล่งโปรตีนที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ กากถั่วเหลืองและปลาป่น ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ไม่มีความยั่งยืนเนื่องจากมีข้อเสียหลายประการและยังทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแมลงจึงถูกใช้เป็นแหล่งโปรตีนทั้งในมนุษย์และสัตว์เนื่องจากพบว่ามีคุณภาพ เพาะเลี้ยงง่ายสอดคล้องต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุดังกล่าวแมลงจึงถูกประกาศว่าเป็นแหล่งโปรตีนในอนาคตที่มีความยั่งยืนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
ภาพรวมของงานวิจัยและกิจกรรมที่ดำเนินการ
    การดำเนินการในงานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการเป็นลำดับขั้นดังต่อไปนี้
    1. คัดเลือกแหล่งแมลงที่มีศักยภาพที่จะมาเป็นแหล่งโปรตีนในสัตว์โดยใช้เทคนิคการย่อยในหลอดทดลอง (In vitro digestibility) ซึ่งใช้เอนไซม์จากสัตว์แตกต่างชนิดประกอบด้วยไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ นกกระทา กระต่าย ปลานิลและกุ้งขาวแวนาไม ซึ่งจากผลการทดลองทำให้ทราบแมลงที่มีศักยภาพและมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ในธุรกิจอาหารสัตว์จำนวน 3 ชนิดคือ หนอนลายเสือ (Hermetia illucens) หนอนนกเล็ก (Tenebrio molitor) และดักแด้หนอนไหมอีรี่ (Samia ricini)
    2. ศึกษาโภชนาการของการเพาะเลี้ยงแมลงให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดโดยพยายามที่จะใช้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการลดขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นยังดำเนินการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงอัตโนมัติและการดำเนินการระบบขยะศูนย์ (Zero waste) พร้อมกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)
    3. ศึกษาวิธีการเมตตาฆาตที่เหมาะสมซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังดำเนินการศึกษาการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากแมลงและผลพลอยได้จากการเพาะเลี้ยง ดังเช่น สารต่อต้านจุลชีพ น้ำมันคุณภาพสูง ไบโอดีเซล เครื่องสำอาง และสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (ไคโตซาน) เป็นต้น
    4. นำแมลงหรือผลิตภัณฑ์มาทดลองในสัตว์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพ ทดสอบความปลอดภัยและแนวทางการประยุกต์ใช้ โดยจะดำเนินการในสัตว์หลายชนิดเช่น ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยงพิเศษ สัตว์ป่า สัตว์กินแมลงและสุนัข ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
    5. ดำเนินการจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงเรียน เกษตรกร เอกชนและภาคอุตสาหกรรม