
ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเรื่องนกล่าเหยื่อโดยตรง อย่าว่าแต่หน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบ แม้กระทั่งความรู้เรื่องนกนักล่าก็เรียกได้ว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักและเข้าใจ
จนกระทั่ง “อนาคิน” แร้งดำหิมาลัยที่บินตกลงมาในประเทศไทย เหตุการณ์นี้จึงจุดประกายให้ประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสนใจนกกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับ ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว (หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ) ได้มาช่วยผลักดันให้มีโครงการดูแลแร้งดำหิมาลัยดังกล่าว จนสามารถต่อยอดมาเป็นหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อสำเร็จในที่สุด ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ช่วยรักษาฟื้นฟูนกนักล่าที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้เรื่องนกนักล่าให้สัตวแพทย์รุ่นใหม่ได้ศึกษาให้มีความชำนาญยิ่งขึ้นไป
โดยสัตวแพทย์รุ่นใหม่ที่ว่าก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน หากแต่เป็นลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน สพ.ญ.รติวรรณ สิทธิบุตร์ สัตวแพทย์ประจำหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ สัตวแพทย์รุ่นใหม่ไฟแรงอีกหนึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังความหวังและสุขภาพที่ดีของเหล่านกนักล่าทั้งหลาย โดยวันนี้คุณหมอจะมาเล่าให้พวกเราฟังถึงเรื่องราวของนกนักล่าและหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ...หน่วยงานที่ทำมากกว่าเพียงแค่การดูแลรักษานก
จากนกธรรมดาในวันนั้น สู่นกนักล่าในวันนี้
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในความชอบนก คุณหมอเล่าว่าตอนเด็ก ๆ ตนเองชอบดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์มาก ทำให้รักสัตว์มาตั้งแต่ตอนนั้น และคิดว่าโตขึ้นมาอยากจะเป็นสัตวแพทย์ แต่ตอนนั้นไม่ได้ชอบสัตว์ชนิดไหนเป็นพิเศษ จนกระทั่งช่วงนึงมีโอกาสได้เลี้ยงนก ทั้งนกที่ซื้อมาเลี้ยงเองและนกที่เก็บมาเลี้ยง “ตั้งแต่เด็ก ๆ เราเลี้ยงนกแล้วไม่เคยรอดเลย ก่อนมาเป็นสัตวแพทย์เลยตั้งใจว่าอยากดูแลนกที่ตกจากรังให้รอด” ซึ่งก็นับเป็นความโชคดีของเหล่านกนักล่า ที่ความตั้งใจนั้นของคุณหมอมาประจวบเหมาะกับหน้าที่ตอนนี้พอดี
แม้ว่าสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อจะยินดีให้ความช่วยเหลือนกนักล่าเหล่านี้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่พวกเขาอยากฝากถึงเราทุกคน คือ นกนักล่าในประเทศไทยทุกตัว ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2562) ดังนั้นการเลี้ยงหรือมีนกเหล่านี้ไว้ในครอบครองถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด
“เพราะเราเคยเจอหลายเคสที่พามารักษาแล้วอ้างว่าเป็นนกที่หลงมา แต่เรารู้อยู่แล้วล่ะว่าบริเวณนี้ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยปกติของนกกลุ่มนี้ ” คุณหมอรติวรรณกล่าว
หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ แต่ด้วยความตั้งใจอันยิ่งใหญ่มาตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ปัจจุบันมีนกนักล่ากว่า 50 ชีวิตที่อยู่ในความดูแล หรือรวมสิ้นกว่า 700 เคสหากนับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งมา

และเพื่อไม่ให้ความตั้งใจในการอนุรักษ์นกนักล่าของทุกคนที่นี่ต้องสูญเปล่า เราทุกคนก็สามารถมีส่วนช่วยได้ ไม่ว่าจะด้วยการช่วยลูกนกจากรัง การไม่ลักลอบเลี้ยงนกนักล่า หรือการช่วยอุปถัมน์นกต่าง ๆ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อรักษานกนักล่าเหล่านี้ไว้ในธรรมชาติ และเพื่อคงไว้ซึ่งสมดุลของระบบนิเวศต่อไป

ที่มา : VPN Magazine