Update COVID-19 ในสัตว์เลี้ยง วันที่ 2 เมษายน 2563
ตามที่มีข่าวแมวติดเชื้อ SARS CoV2 จากเจ้าของซึ่งป่วยเป็น COVID- 19 ในประเทศเบลเยียม และแมวแสดงอาการป่วย (ซึ่งไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าป่วยจากการติดเชื้อหรือไม่) และตรวจพบเชื้อในอุจจาระ หลังจากเจ้าของป่วย 1 สัปดาห์ ขณะนี้ทั้งเจ้าของและแมวหายดีเป็นปกติ และมีการระบุว่า เป็นการแพร่เชื้อจากคนไปยังแมว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในสุนัขมาแล้ว แต่สุนัขไม่แสดงอาการป่วย
มีรายงานข่าวจากฮ่องกงว่าพบเชื้อจากช่องปากและจมูกของแมว ซึ่งได้รับมาจากเจ้าของซึ่งป่วย
ปัจจุบัน (31 มีนาคม 2563) ได้มีรายงานการศึกษาการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงโดยนักวิจัยจากประเทศจีน โดยทำให้แมวติดเชื้อทางช่องจมูก (intranasal inoculation) พบว่าแมวติดเชื้อและสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อ SAS CoV2 แต่ไม่แสดงอาการป่วย โดยพบเชื้อมีชีวิตในระบบหายใจ และสามารถแพร่เชื้อไปยังแมว 1 ตัวจากทั้งหมด 3 ตัว ที่ปล่อยให้สัมผัสกัน การทดลองดังกล่าวยืนยันว่าแมวติดเชื้อ SAR CoV2 ได้ และแพร่เชื้อไปยังแมวด้วยกัน แต่อยู่ในระดับต่ำ
มีการทดลองการติดเชื้อ SARS CoV2 ในลูกสุนัข พบว่าสุนัขไม่ค่อยไวต่อการติดเชื้อ SARS CoV2 ถึงแม้ว่าจะพบสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสในอุจจาระแต่ไม่พบไวรัสที่มีชีวิต นอกจากนี้การทดลองยังยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น ไก่ เป็ด และสุกร ไม่ติดเชื้อ SARS CoV2
และปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่าสัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปยังคน ดังนั้นผู้ป่วย COVID 19 จึงควรแยกตัวเองจากสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว และควรให้ผู้อื่นดูแลสัตว์เลี้ยงแทน ในกรณีที่จำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง และไม่แบ่งอาหารให้สัตว์เลี้ยง
เพื่อเป็นการป้องกันสัตว์เลี้ยงจากการปนเปื้อนหรือติดเชื้อ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงและสถานที่ขับถ่ายของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
เนื่องจากยังมีเชื้ออื่นๆ ที่ปนเปื้อนมากับสิ่งสกปรก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในคน จึงควรรักษาสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ภายหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง และงดจูบและหอมสัตว์เลี้ยงจนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น
ข้อมูล : ศ.สพ.ญ.ดร.พรทิภพา เล็กเจริญสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์