สรุปการบรรยายเรื่อง Australasian veterinary boards council (AVBC) standard ครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เชิญ Professor Norman B. Williamson ซึ่งเป็นอดีตประธาน Veterinary Schools Accreditation Advisory Committee (VSAAC) และอดีตคณบดี School of Veterinary Science, Massey University มาบรรยายเกี่ยวกับการตรวจมาตรฐานเพื่อการรับรอง AVBC และมีการประชุมอบรมครั้งแรกให้กับผู้บริหาร หัวหน้าภาควิชา คณะกรรมการตรวจประเมินมาตรฐาน AVBC ภายในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบุคลากรที่สนใจ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการรับรอง และเกี่ยวกับมาตรฐานทั้งหมดที่จะตรวจสอบ โดยบรรยายทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม Cisco Webex การบรรยายครั้งนี้เพื่อช่วยให้คณะได้เตรียมตัวเพื่อการรับรอง AVBC และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับมุมมองของผู้ที่จะมาตรวจ เพื่อให้ทางคณะเตรียมตัวให้ตรงตามความต้องการของ AVBC โดยกำหนดการในเดือนถัดไปจะเริ่มเจาะลึกเข้าไปในแต่ละมาตรฐานในการตรวจรับรองมาตรฐานโดย AVBC นั้นมีการดำเนินการโดย Veterinary Schools Accreditation Advisory committee (VSAAC) ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งรายงานการประเมินให้กับทาง AVBC ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะให้กับทางคณะที่ได้รับการเข้าประเมินเพื่อปรับแก้ ซึ่งขั้นตอนในการขอรับรองมาตรฐาน AVBC นั้นเริ่มจากการจัดทำ self-evaluation report (SER) โดยอิงตาม  12 มาตรฐาน (standard) ของทาง AVBC ดังนี้
 
  • Organisation
  • Finances
  • Facilities and equipment
  • Animal resources
  • Information resources
  • Student and learning support
  • Admission and progression
  • Academic and support staff
  • Curriculum
  • Assessment
  • Research program, continuing and higher degree education
  • Outcomes assessment


ซึ่งทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. มีการจัดทำ SER เรียบร้อยแล้ว โดยในขั้นถัดไปนั้นจะมีการประเมินจากภายนอกซึ่งในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนการตรวจเยี่ยมโดยเป็นการยื่น SER ผ่านทางออนไลน์เพื่อให้ทีมที่จะมาตรวจรับรองได้ตรวจสอบเอกสารก่อนที่จะมาสถานที่จริงไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์ และทางทีมที่มาตรวจสอบจะมีการหารือร่วมกันก่อนมาตรวจ 1 เดือน โดยในทีมจะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละ standard ตามความถนัดของสมาชิกในทีม โดยภายหลังจากการตรวจเยี่ยมทางทีมที่มาตรวจจะส่งรายงานการตรวจเยี่ยม (visiting report) ให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. และให้กับ AVBC ซึ่งจะมีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะให้ทางคณะนั้นได้รับมาตรฐานหรือไม่ โดยการรับรองมาตรฐานจะมีทั้งแบบได้รับรองแบบสมบูรณ์และได้รับรองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วจะมีการติดตามตรวจสอบ เช่น การจัดทำรายงานประจำปี (annual report) เป็นต้น โดยสมาชิกของทีมที่จะมาตรวจรับรองนั้นจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางสาขาต่างๆ เช่น สาขาอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์สัตว์เล็กและสัตวใหญ่ สาขากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและพยาธิวิทยา เป็นต้น รวมไปถึงนายสัตวแพทย์ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งรายชื่อสมาชิกในทีมทุกคนต้องได้รับการยินยอมจากทั้งคณะที่จะถูกตรวจสอบและทาง AVBC และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส่ในการตรวจสอบจึงมีการกำหนดเงื่อนไขว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสมาชิกของทีมจะต้องไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับทางคณะ ในส่วนของข้อมูลที่ทาง AVBC มาตรวจสอบนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับและจะประกาศรายงานการตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านทางเว็บไซต์ของ AVBC (ในกรณีที่ไม่ผ่านการรับรองจะไม่มีการรายงานบนหน้าเว็บไซต์) ทีมที่จะมาตรวจสอบนั้นจะได้รับการอบรมก่อนที่จะมาเยือนทางคณะ โดยในการมาตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่คณะเขียนไปใน SER นั้นตรงกับในทางปฏิบัติหรือไม่ซึ่งทางทีมที่ทำการตรวจสอบอาจจะมีการถามคำถามปลายเปิดแทนไม่ได้มีการถามคำถามที่ชี้นำแต่จะเน้นไปที่การเขียนรายงานแทนและในการให้คะแนนนั้นจะให้คะแนนในแต่ละ Rubrics ของแต่ละมาตรฐาน โดยเมื่อจบการตรวจสอบในแต่ละวันแล้วนั้นทางทีมจะมีการพูดคุยถกประเด็นกันและทำการเขียนรายงานสรุปออกมา ซึ่งหลักการในการเขียนรายงานนั้นทางทีมจะมีการเขียนทั้งสิ่งที่ดีและในสิ่งที่ควรแก้โดยมีทั้งในแง่ควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้นและในแง่ที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด โดยในคืนสุดท้ายของการมาตรวจเยี่ยมทางทีมจะมีการประชุมสรุปว่าทางคณะสามารถทำได้ตามที่มาตรฐานกำหนดหรือไม่ ทางคณะมีข้อที่ควรปรับปรุงตรงไหนบ้างซึ่งจะมีการโหวตเกิดขึ้นและทำการรายงานต่อคณบดีในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งในการตัดสินใจว่าจะรับรองมาตรฐานของ AVBC ให้กับทางคณะหรือไม่จะพิจารณาจากทั้ง SER รายงานสรุปการตรวจเยี่ยมและผลการโหวตของทางทีมร่วมกัน

หัวข้อถัดมาคือ มาตรฐานที่ 1 Organisation 

เป็นมาตรฐานที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะบรรลุพันธกิจได้โดยการมีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน ระบุความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายรวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้วยเช่นกันทั้งนี้ต้องมีการจัดทำเอกสารแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานร่วมด้วยและมีการอธิบายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งในคณะ ในมหาวิทยาลัยและภายนอกให้เข้าใจโครงสร้างการบริหารงานของคณะที่ตรงกัน เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและการตัดสินใจของคณะได้ โดยเฉพาะนิสิตในแง่ของการพัฒนาหลักสูตร นอกจากนี้ตำแหน่งของคณบดี ผู้อำนวยการและบุคลากรในโรงพยาลสัตว์เพื่อการเรียนการสอนจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นสัตวแพทย์ตามกฎหมาย และทางคณะต้องได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คณะต้องมีความสามารถที่จะจัดหาหรือมีทรัพยากรมาสนับสนุนตัวคณะได้อย่างมีอิสระและมั่นคง มีแนวทางในการดูแลรับผิดชอบและพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันคณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. มีคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเป็นผู้รับผิดชอบ โดยในแง่ของการจัดการและกำกับดูแลนั้นทางคณะมีหน้าที่ในการดูแลการเรียนการสอนซึ่งนอกจากมีการเรียนการสอนในหลักสูตรแล้วควรมีการจัดการฝึกงานร่วมด้วยเพื่อให้นิสิตได้มีประสบการณ์ในการเจอกับสถานการณ์และลองปฏิบัติงานจริง โดยมีการจัดสรรความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้การดำเนินการของหลักสูตรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และทางคณะต้องมีการประเมินความเสี่ยงและดูแลความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการทั้งในผู้ปฏิบัติงานและในสัตว์ด้วยเช่นกัน

Timeline ในการขอรับรองมาตรฐานโดย AVBC 

    คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานโดย Australasian Veterinary Boards Council (AVBC) จึงได้เชิญ Professor Norman B. Williamson ซึ่งเป็นผู้ที่ที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในการตรวจรับรองมาตรฐานให้กับสถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศออสเตรเลีย ในนามของ AVBC มาเป็นที่ปรึกษาสำหรับการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีกำหนดการดังนี้


  • เดือน สิงหาคม ถึง ธันวาคม 2565 ทำความเข้าใจเนื้อหามาตรฐานโดยมีการบรรยายจาก Prof. Norman B. Williamson
  • เดือน มกราคม ถึง สิงหาคม 2566 แก้ไข ปรับปรุง และเขียนรายงานให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด
  • เดือน พฤศจิกายน 2566 เชิญคณะกรรมการจาก AVBC มาตรวจเยี่ยมที่คณะฯ

 
Professor Norman B. Williamson ได้อธิบายและให้คำแนะนำจากการทำ self-evaluation report (SER) และ desktop review ที่ได้ส่งให้ AVBC ได้พิจารณา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรฐานที่ 1 - Organisation 

เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงประสิทธิภาพการดูแล และการจัดการภายในคณะเพื่อให้สำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้

1.1 ความเป็นอิสระทางการดำเนินงาน  (Autonomy of Operation)

คณะสัตวแพทยศาสตร์ต้องเป็นหน่วยบริหารหลักที่ให้บริการการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งทางคณะต้องได้รับการรับรู้ มีสถานะ และมีอิสระเหมือนหลักสูตรของวิชาชีพในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ คณะต้องสามารถที่จะได้มาหรือมีทรัพยากรเองโดยตรงเพื่อให้บรรลุพันธกิจได้ รวมถึงต้องมีหลักฐานแสดงสายการรับผิดชอบหลักสูตรโดยตรงและชัดเจนเพื่อส่งต่อหลักสูตรได้
               คณบดี หัวหน้าหรือประธาน ต้องเป็นสัตวแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เช่นเดียวกันบุคลากรที่ต้องรับผิดชอบต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณ และการจัดการทางวิชาการของโรงพยาบาลที่ใช้ในการสอนทางคลินิกต้องเป็นสัตวแพทย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งจากข้อมูลใน SER พบว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกว่าเป็นสัตวแพทย์ที่ได้ขึ้นทะเบียน ทางคณะจึงชี้แจงว่าได้ดำเนินการให้มีการต่อทะเบียนแล้ว
               ในกรณีที่รูปแบบการสอนทางคลินิกแบบผู้สอนและผู้เรียนไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน (distributed teaching) จะต้องมีการดูแลจากนายสัตวแพทย์ผู้ซึ่งทำงานในมหาวิทยาลัย โดยในส่วนที่ต้องมีการดูแลจากสัตวแพทย์จากคณะนั้นครอบคลุมเฉพาะส่วนที่ทางคณะไม่สามารถจัดให้มีการเรียนการสอนได้เองในหลักสูตร เช่น ไม่มีโรงพยาบาลสัตว์ภายในคณะ จำเป็นต้องใช้สถานที่จากโรงพยาบาลสัตว์อื่น เช่นเดียวกับฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ หากไม่สามารถมีสถานที่รองรับการเรียนของนิสิตได้ทุกคนจำเป็นต้องมีการเซ็นสัญญาและมีการดูแลจากคณะให้สอนไปตามหลักสูตรที่กำหนดได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของการฝึกงานภายนอกหรือการเยี่ยมฟาร์ม  

1.2 การกำกับดูแลและการจัดการ (Governance and management)

               ต้องมีการอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เข้าใจถึงการบริหารคณะสัตวแพทยศาสตร์ โครงสร้างการจัดการ และการทำงานของคณะฯ ซึ่งคำจำกัดความนี้ต้องครอบคลุมความสัมพันธ์ภายในคณะ ความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย และความสัมพันธ์ภายนอกคณะฯ ทั้งการกำกับดูแลและการจัดการเรื่องการประเมินความเสี่ยง สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน ข้อผูกพันทางกฎหมาย ทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการดูแลสัตว์ และการจัดการนโยบาย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะต้องได้รับมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุด (เช่น จาก AICD หรือ NZ Institute of Directors) สำหรับมาตรฐานที่อ้างอิงสามารถใช้ตามกฏหมายของประเทศไทยได้ แต่หากเป็นไปได้ควรประยุกต์ให้สามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต้องมีการจัดทำเอกสารองค์ประกอบ ระยะเวลาในหน้าที่ อำนาจ การรายงานความสัมพันธ์ การเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ต่าง ๆ และการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ รวมทั้งมั่นใจได้ว่าโครงสร้างองค์กรของคณะฯ สามารถให้บุคลากร (staff) นิสิต และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดทิศทาง และการตัดสินใจของคณะ คณะต้องสามารถรับรองมาตรฐาน AVBC ได้อย่างสม่ำเสมอต่อความร่วมมือหลักสำหรับการถ่ายทอดหลักสูตร และสามารถเตรียมหลักฐานของการจัดการความเป็นกังวลทั้งด้านความเสี่ยง หรือคุณภาพของหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


     สำหรับการบรรยายในครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 9.00-11.00 น ในหัวข้อมาตรฐานที่ 2 Finances และมาตรฐานที่ 9 Curriculum ผ่านระบบออนไลน์ และวันที่ 31  ตุลาคม 2565  เวลา 9.00-11.00 น หัวข้อมาตรฐานที่ 9 Curriculum (ต่อ)



Professor Norman B. Williamson ได้อธิบายและให้คำแนะนำจากการทำ self-evaluation report (SER) และ desktop review ที่ได้ส่งให้ AVBC ได้พิจารณา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรฐานที่ 2-Finances

เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงความเชี่ยวชาญและความพร้อมทางด้านการเงิน เพื่อให้เพียงพอในการดำเนินการเรียนการสอนของคณะสัตวแพทยศาสตร์และทำให้คณะบรรลุพันธกิจได้ โดยทางคณะและมหาวิทยาลัยต้องแสดงหลักฐานเพื่อบ่งบอกความพร้อมทางด้านการเงินในการดำเนินงานของหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัญฑิตใน 7 ปีข้างหน้า ทั้งในแง่ของการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการจัดซื้อเครื่องมือและการก่อสร้างอาคาร มีอิสระในการใช้ทรัพยากรและในการบริการทางคลินิก การบริการในพื้นที่ และโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน ทั้งของคณะสัตวแพทยศาสตร์หรือหน่วยงานภายนอก ต้องถูกนำมาใช้เป็นทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนมากกว่าเมื่อเทียบกับส่วนที่สร้างรายได้ให้กับคณะ

มาตรฐานที่ 9-Curriculum 

เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตต้องได้รับการออกแบบ มีทรัพยากรและการจัดการที่ดีเพื่อให้มั่นใจว่านิสิตที่จบไป
เข้าใจถึงกระบวนการที่สำคัญในทางสัตวแพทย์ เข้าใจหลักการทางชีวภาพ มีคุณลักษณะตรงตามที่ AVBC ได้กำหนดไว้และมีความสามารถขั้นต่ำในการ
ทำงานเป็นสัตวแพทย์วันแรกตามที่ทาง RCVS กำหนด (RCVS Day 1 competence)

9.1 การจัดการ

คณะต้องมีคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ ชัดเจน โดยมีตัวแทนจากนิสิตเข้าร่วมด้วย เพื่อกำกับดูและและจัดการเกี่ยวกับหลักสูตร โดยคณะกรรมการนี้ต้องมีหน้าที่ในการกำหนดพื้นฐานของการออกแบบหลักสูตร วิธีการถ่ายทอดและประเมินผลของหลักสูตร กำกับดูแลมาตรฐานของหลักสูตร ตรวจสอบหลักสูตรเป็นประจำและทำการเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น คณะต้องแสดงให้เห็นว่ามีการทำแผนเพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัตของอาจารย์ทุกท่าน

9.2 เนื้อหาของหลักสูตร

กล่าวถึงการสร้างหลักสูตรนั้นต้องมั่นใจว่านิสิตจะมีความรู ความเข้าใจ ทัศนคติและพฤติกรรมที่จำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพสัตว์และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ภายใต้ความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม มีความสามารถตามมาตรฐานของทาง OIE ในการป้องกันโรค โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ระบาดวิทยา รวมทั้งมีทักษะความความชำนาญทางวิชาชีพ อาทิ ทักษะการแก้ไขปัญหา จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น

9.3 การศึกษานอกสถานที่ (Extra mural studies)

กล่าวถึงการให้นิสิตไปศึกษาในสถานที่ปฏิบัติงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ โดยทางคณะมีหน้าที่ในการจัดสรรให้นิสิตได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่ปฏิบัติงานจริง ซึ่งในระดับพรีคลินิกจะเน้นที่การจัดการ การดูแลและการจับบังคับสัตว์ และในระดับคลินิกนิสิตต้องได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการ การรักษาสัตว์ป่วย


สำหรับการบรรยายในครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เวลา 9.00-11.00 น ในหัวข้อมาตรฐานที่ 9 Curriculum (ต่อ) ผ่านระบบออนไลน์



Professor Norman B. Williamson ได้อธิบายและให้คำแนะนำจากการทำ self-evaluation report (SER) และ desktop review ที่ได้ส่งให้ AVBC ได้พิจารณา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรฐานที่ 10-Assessment  

                  มาตรฐานนี้กล่าวถึงการประเมิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากนิสิตที่ผ่านการประเมินจนจบเป็นบัณฑิตได้นั้นต้องมีความสามารถตรงตามที่กำหนด เพื่อเข้าสู่วงการวิชาชีพอย่างมีมาตรฐาน 

10.1 การจัดการ

                  คณะต้องมั่นใจว่ามีโครงสร้างที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในการวางกลยุทธ์ในการประเมินอย่างชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าระบบการประเมินโดยรวมมีความสอดคล้องกันและแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบประเมินเพื่อนำไปสู่ความสามารถขั้นเริ่มต้น

10.2 นโยบายและข้อบังคับ

                  การประเมินและเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนและนิสิตสามารถเข้าถึงได้ในเวลาที่เหมาะสมก่อนการประเมิน มีการแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่จำเป็นในการผ่านการประเมิน ขั้นตอนในการยื่นอุทธรณ์ต่อผลการประเมินต้องมีความชัดเจน เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนหรือเปลี่ยนรูปแบบการประเมินก็ต้องปฏิบัติ

10.3 วิธีการและการออกแบบการประเมิน

                  Program learning outcome ต้องเป็นพื้นฐานในการออกแบบการประเมิน โดยการประเมินนิสิตในแต่ละครั้งจะต้องมีการให้ผลลัพธ์และตอบกลับนิสิตในเวลาที่เหมาะสม ภาระงานของการประเมินต้องเหมาะสมทั้งของนิสิตและผู้ประเมิน ไม่มากเกินไป แบบประเมินจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตร วิธีการประเมินผลทั้ง formative และ summative assessment นั้นจะต้องประกอบด้วยวิธีการที่หลากหลาย

10.4 มาตรฐานการประเมินและการประกันคุณภาพ

                 
ในการประเมินจะต้องมีความเป็นธรรม ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมิน โดยคณะจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการประเมินในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ตลอดทั้งหลักสูตรมีความเท่าเทียมและนิสิตแต่ละคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เกรดที่นิสิตได้มาจะต้องสะท้อนถึงศักยภาพของนิสิตที่สิดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้นั้นๆ

 

Professor Norman B. Williamson ได้อธิบายและให้คำแนะนำจากการทำ self-evaluation report (SER) และ desktop review ที่ได้ส่งให้ AVBC ได้พิจารณา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรฐานที่ 3-Facilities and Equipment

มาตรฐานนี้กล่าวถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพ (Physical facilities) ทุกด้านจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมทั้งห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และโรงพยาบาล ซึ่งอาจรวมถึงยานพาหนะบริการสัตว์ป่วยนอกหรือภาคสนาม ห้องสัมมนา และพื้นที่การสอนอื่นๆ จะต้องสะอาด มีการบำรุงรักษาด้วยการซ่อมแซม และมีจำนวนห้องและขนาดห้องเพียงพอรวมทั้งจำนวนอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตที่ลงทะเบียน เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียนการสอน 

นิสิตสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา สันทนาการ มีตู้เก็บของ (Locker) รวมถึงมีร้านอาหารเพียงพอต่อความต้องการ

คณะมีสำนักงานหรือหน่วยงานด้านงานธุรการ สถานที่ทำงานของคณะฯ ตลอดจนห้องปฏิบัติการด้านการวิจัยจะต้องเพียงพอ และมีความพร้อมสำหรับความต้องการของนักวิจัย นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน

สิ่งอำนวยความสะดวกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความปลอดภัยทางชีวภาพ ชีวนิรภัยและมาตรฐานการดูแลสัตว์