ประวัติภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า 

 

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า เดิมคือ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 5 ตราขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2497 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอน 86 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาด้านสัตวแพทยศาสตร์ โดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (สพ.บ.) ระยะเริ่มแรกหลักสูตร 5 ปี ซึ่งต่อมา ปี พ.ศ. 2500 ปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็น 6 ปี ภาควิชามีการพัฒนาเนื้อหารายวิชาด้านอายุรศาสตร์มาเป็นลำดับ ตามหลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2520 หลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2532 หลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2538 หลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2545 หลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2557 และหลักสูตรปรับปรุง ปี พ.ศ. 2562


คณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ปรับเปลี่ยนภาควิชาทางคลินิก    จำนวน 4 ภาควิชาในสังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่จัดการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ ตามประเภทของชนิดสัตว์ ตรงกับความชำนาญเฉพาะทางของบุคลากรและปรับปรุงหลักสูตรให้สะดวกมากขึ้น โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2546 ให้มีการจัดบุคลากรทั้ง 4 ภาควิชาที่ปรับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนชื่อภาควิชาจากเดิม ภาควิชาอายุรศาสตร์ เป็น ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า ประกาศตามราชกิจจานุเบกษา หน้า 22 เล่ม 120 ตอนพิเศษ 147 ง วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และมีการแจ้งย้ายการเปลี่ยนแปลงบุคลากรไปสังกัดภาควิชาใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป ตามหนังสือที่ ทม 0411.01 / 1594 ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2546

  

วิสัยทัศน์ (VISION)  
  “คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันสัตวแพทยศาสตร์สากล เพื่อสุขภาพที่ดีของ สัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม"

 

 พันธกิจ (MISSION)  
  “สร้างและพัฒนาบุคลากร ความรู้ วิทยาการ นวัตกรรม ทางสัตวแพทย์ เพื่อสุขภาพสัตว์ คน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และชี้นำการวินิจฉัย รักษาสัตว์ในระดับสูง ด้วยมาตรฐานสากล ความเป็นมืออาชีพ และจริยธรรม”

 

เป้าประสงค์  
  “นำ ชี้นำและเป็นต้นแบบ การศึกษา การสร้างองค์ความรู้สัตวแพทยศาสตร์ระดับสูง การวินิจฉัยรักษาโรคซับซ้อนด้วยมาตรฐานสากลและนวัตกรรม เพื่อสุขภาพที่ดีของ สัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม”