ประวัติภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์  

ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ เป็นภาควิชาซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาควิชาทางคลินิก ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนมาจากภาควิชาสูติศาสตร์เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2526 และมีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 20 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 101 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาด้าน สัตวแพทยศาสตร์ โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (สพ.บ.) ปัจจุบันใช้หลักสูตร พ.ศ. 2538 และหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2547

 

ปัจจุบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ปรับเปลี่ยนภาควิชาทางคลินิก จำนวน 4 ภาควิชาในสังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่จัดการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ ตามประเภทของชนิดสัตว์ ตรงกับความชำนาญเฉพาะทางของบุคลากรและปรับปรุงหลักสูตรให้สะดวกมากขึ้น โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 ให้มีการจัดบุคลากรทั้ง 4 ภาควิชาที่ปรับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนชื่อภาควิชาจากเดิม ภาควิชาสูติศาสตร์เธนุเวชวิทยา เป็น ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ ประกาศตามราชกิจจานุเบกษา หน้า 22 เล่ม 120 ตอนพิเศษ 147 ง วันที่ 25 ธันวาคม 2546 และมีการแจ้งย้ายการเปลี่ยนแปลงบุคลากรไปสังกัดภาควิชาใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2546 เป็นต้นไป ตามหนังสือที่ ทม 0411.01 / 1594 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2546

 

วิสัยทัศน์ 
  "เป็นสถาบันชั้นนำ 1 ใน 5 ของเอเชีย"


ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์  

ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ ยึดและใช้ ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางสาขาวิชาชีพสัตวแพทย์ มีคุณภาพเป็นสากล ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรม และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม นอกจากนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ ยังมุ่งส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อสร้างองค์กรความรู้ใหม่ และให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพ พร้อมทั้งบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทยอีกด้วย

 

  ภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ  

  • ด้านการเรียนการสอนให้ความรู้ทางด้านอายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรมในสัตว์เศรษฐกิจ ที่สำคัญ  คือ สุกร สัตว์ปีก  และ สัตว์น้ำ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต  หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต และหลักสูตรปริญญาโทคลินิกศึกษา (สุกร)
  • ด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคมในสาขาที่เกี่ยวข้อง
  •  ส่งเสริมงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง และงานวิจัยอื่นๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ 
  •  ส่งเสริมให้มีการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทย 
  • ส่งเสริมให้บุคลากรมีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเสริมสร้างความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร