หากจะกล่าวถึงนกที่คนไทยนิยมเลี้ยงกันมานานแล้วละก็ “นกขุนทอง” คงติดอันดันต้นๆ ด้วยเพราะนกขุนทองสามารถเลียนเสียงพูดของมนุษย์ได้ (ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่)

 

ปรับตัวได้ง่ายให้อะไรก็กินทุกอย่าง (ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เดี๋ยวจะค่อยๆเล่าให้ฟังนะครับ) ถึงขั้นมีการผลิตอาหารเม็ดขึ้นมาให้เฉพาะทีเดียวทั้งๆ ที่ผู้เลี้ยงทราบกันโดยทั่วไปว่า นกขุนทองที่เรานำมาเลี้ยงในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ถูกลักลอบจับออกมาจากป่าธรรมชาติแทบทั้งสิ้น มีการทดลองเพาะเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์และหวังผลทางการค้าก็ยังทำได้ยากและไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะได้ผลผลิตน้อยมากและมีราคาต้นทุนแพงมาก

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเพื่อนเก่าแก่ของคนไทยที่มีความนิยมเลี้ยงติดต่อกันมากว่าร้อยปีกันครับ

Vestibulum id urna

“นกขุนทอง” มีชื่อสามัญ: Hill Myna และมีชื่อวิทยาศาสตร์:Gracula religiosa Linnaeus, 1758. มีการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ เกาะไหหลำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะซุนดาและเกาะปาลาวัน ทั่วโลก
จัดแบ่งเป็น 10 ชนิดย่อย (Subspecies) แต่ในธรรมชาติของประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิดย่อย คือ นกขุนทองใต้ (Gracula religiosa religiosa Linnaeus) และนกขุนทองเหนือ (Gracula religiosa intermedia Hay)

ลักษณะทั่วไปของนกขุนทองไทย มีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตรนกตัวเต็มวัยมีสีขนดำเหลือบเป็นมัน มีลายพาดสีขาวบริเวณขนปลายปีก ซึ่งจะเป็นได้ชัดขณะกางปีกหรือบิน มีติ่งเนื้อสีเหลืองสดบริเวณด้านข้างของหัวและท้ายทอย ซึ่งเราจะใช้โครงสร้างของติ่ง
เนื้อนี้ในการแบ่งแยกชนิดย่อย โดยนกขุนทองใต้จะมีขนาดใหญ่เป็นสองส่วนไม่ต่อเนื่องกัน แต่นกขุนทองเหนือจะมีติ่งขนาดเล็กและต่อเนื่องกันทุกส่วน นกขุนทองจะมีปากสีส้มถึงสีแดงอมส้ม ปลายปากมักเป็นสีเหลือง แข้งและนิ้วตีนสีเหลือง

Vestibulum id urna

ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกขุนทองตามธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้งและป่าดงดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่วงฤดูผสมพันธุ์มักอยู่กันเป็นคู่ตลอดเวลา แต่ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูงเล็กๆ เพราะนกขุนทองเป็นนกที่ต้องการมีสังคมและเพื่อนตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของการทำพฤติกรรมเลียนแบบซึ่งกันและกัน เช่น การเลียนท่าทางและการเลียนแบบเสียงร้อง เพื่อแสดงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน

เมื่อนกขุนทองถูกจับมาเลี้ยงตัวแต่ยังเด็ก และโตขึ้นมาโดยเห็นแต่หน้าเจ้าของและได้ยินเสียงสอนให้พูดอยู่ตลอดเวลา นกจึงคิดว่านี่เป็นครอบครัวหรือเพื่อนของเขา (ไม่ทราบว่ากรรมเก่าหรือกลไกการเอาตัวรอด) จึงพยายามเลียนเสียงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับเช่นกัน ความฉลาดและพฤติกรรมเหล่านี้ กลับสร้างผลเสียแก่เผ่าพันธุ์ของนกขุนทอง เพราะเป็นจุดขายหลักที่คนขายจะเสนอให้ผู้ซื้อ โดยหารู้ไม่ว่า…นกขุนทองไม่สามารถเลียนแบบเสียงคนได้ทุกตัว แม้จะเลี้ยงเขามาตั้งแต่ยังเด็ก และนกขุนทองโตเต็มที่ที่ถูกจับจากป่ามาขายก็ไม่สามารถปรับตัวเลียนแบบเสียงเจ้าของได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นตัวเจ้าของเอง กลับมองคุณค่าของนกที่ไม่พูดลดลงไป ถึงขั้นไม่เหมาะกับการเป็นสัตว์เลี้ยง บางคนนำไปปล่อยป่าหรือปล่อยออกจากบ้านไปเพราะคิดว่านกคงจะหากินเองเป็น โดยไม่ทราบว่านกที่ถูกมนุษย์เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กนั้นหาอาหารกินเองไม่เป็น ไม่รู้จักว่าสิ่งใดเป็นศัตรูไม่รู้ว่าจะไปนอนที่ไหนและมีรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป…มันมืดแปดด้าน เพราะฉะนั้นทุกท่านที่มีนกขุนทองไว้ครอบครองแล้วกรุณาเลี้ยงเขาให้ดีจวบจนเขาจะแก่ตายไปเองในกรงนะครับ เลิกความคิดว่าจะนำไปปล่อย เพราะเท่ากับส่งนกไปตกระกำลำบากครับ

Vestibulum id urna

ทีนี้เราจะมาพูดถึงอาหารที่นกขุนทองเลี้ยงควรกินกันนะครับ สิ่งที่ทุกคนคิดได้เป็นอย่างแรกต้องหนีไม่พ้น “ข้าวคลุกไข่และกล้วยน้ำว้า”เป็นแน่…หตุเพราะเราได้รับการถ่ายทอดความเชื่อนี้มาจากบรรพบุรุษและคนขายที่คอยพร่ำบอกว่าเลี้ยงง่าย (จะได้รีบจ่ายเงินซื้อไปเร็ว ๆ)กินแต่ข้าวคลุกไข่นั้นแหละดีแล้ว ส่วนตัวนกไม่ทราบหรอกว่าตนเองต้องกินอะไร รู้แต่ว่าคนเลี้ยง (เจ้านาย) เอาอะไรมีให้กินก็ต้องกินไปอย่างนั้น เพราะหิวจะแย่อยู่แล้วไม่มีทางเลือก แต่ความจริงแล้วท่านทราบหรือไม่ว่า การที่ท่านให้นกขุนทองแสนรักกินข้าวคลุกไข่นั้นเท่ากับท่านกำลังบั่นทอนชีวิตของเขาทางอ้อม เป็นเพราะนกขุนทองนั้นมีตับที่ไม่เหมือนนกชนิดอื่น เป็นตับที่ไม่สามารถขับธาตุเหล็กส่วนเกินความต้องการของร่างกาย (ที่ได้รับมาจากไข่แดงในทุก ๆ วัน) ออกจากร่างกายได้มากเฉกเช่นเดียวกันนกชนิดอื่น ๆ

ยิ่งถ้ากินไข่แดงในปริมาณมากทุกวัน จะทำให้มีธาตุเหล็กส่วนเกินสะสมอยู่ที่ตับมากขึ้น ในระยะยาวจะทำให้เกิด“ภาวะตับวาย”ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากนกจะหายใจหอบ ร้องไม่มีเสียง อุจจาระมีสีเหลือง กินลดลง ผอมและท้องกางขยายขนาดคล้ายเป็นท้องมาน สุดท้ายก็เสียชีวิตซึ่งเจ้าของก็จะคิดว่านกสิ้นอายุขัยไปเอง แต่ความจริงแล้วนกเสียชีวิตด้วยภาวะดีซ่านอันเนื่องมาจากตับอักเสบ เพราะมีธาตเหล็กส่วนเกินเกาะที่เนื้อตับมากเกินไป ว่ากันว่า…นกที่เลี้ยงอย่างดีและถูกต้อง สามารถอยู่ในกรงเลี้ยงได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปีทีเดียว

Vestibulum id urna

ส่วนอาหารเม็ดนั้น ก่อนท่านจะไปซื้อควรสังเกตดูด้วยว่ามีธาตุเหล็กเป็นส่วนผสมด้วยหรือไม่ ควรจะมีน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยจะดีที่สุดครับอาหารอย่างอื่นๆ ก็มีผลไม้ที่เราสามารถหาได้ตามฤดูกาลผลัดเปลี่ยนชนิดผลไม้ไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสารอาหาร และวิตามินต่างๆ ให้เพิ่มพูนขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนอาหารและน้ำวันละสองครั้งเพราะบางครั้งผลไม้บูดเน่า จะทำให้นกท้องเสียและบางครั้งเกิดสารพิษทำให้นกตายได้ครับ ส่วนนกที่กินแต่อาหารซ้ำๆ ทุกวันจะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ โดยจะเห็นว่าขนเงางามของนกดูไม่สดใส สีปากจากสีส้มจะกลายเป็นสีเหลืองซีดและดูไม่แข็งแรง นกจะป่วยได้ง่ายมาก ๆ

ปัญหาที่พบเมื่อซื้อลูกนกมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กมาก เป็นการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายเนื่องมาจากยังไม่ถึงเวลาที่นกควรออกมาจากโพรงรัง แต่ถูกลักลอบจับนำออกมาขายและเลี้ยงอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง บางบ้านเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้ด้วย ลูกนกจึงเสียความร้อนออกไปจากร่างกายมากเกินความจำเป็น กินอาหารมาเท่าใดก็นำไปผลิตความร้อนให้แก่ตัวเองเสียหมด ไม่ได้ใช้ในการเติบโตเลยนกพวกนี้จึงโตมาอย่างแคระแกรนหรือเสียชีวิตไปหลังจากซื้อมาไม่นาน อีกปัญหาหนึ่งเป็นการป้อนอาหารแล้วสำลักหรือป้อนอาหารที่นกไม่ควรกินเข้าไป ส่วนใหญ่มักตายทั้งหมด

ปัญหาของนกโตที่พบบ่อย ๆ นอกจากตับอักเสบก็จะมีกล่องเสียงหลอดลมและปอดอักเสบเนื่องมาจากตากฝน โดนลมโกรกมาก อยู่ในที่เย็นจัด กินอาหารที่ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน และชอบอาบน้ำหรือเล่นน้ำ ซึ่งเจ้าของมักคิดว่านกขุนทองชอบ จึงส่งเสริมกันใหญ่ อันที่จริงในธรรมชาติขุนทองแทบไม่เคยได้เล่นน้ำเลยครับ แต่พอมาอยู่ในกรงนกกลับชอบทำ เหตุเพราะนกเขาเบื่อครับ เบื่อที่ไม่มีอะไรทำ วันๆอยู่แต่ในกรงแคบๆ เกาะอยู่เฉยๆ ทั้งวันทั้งปี เห็นมีกิจกรรมใดน่าสนุกก็ทำเข้าไปทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งก่อให้เกิดการป่วยครับ

บางตัวอาบน้ำบ่อยๆ เข้าจนมีปัญหาเชื้อราที่ผิวหนัง (คล้ายรังแคในคน) ต้องตามแก้รักษากันหลายเดือน ส่วนปัญหาอื่นๆ มีว่าจะเป็นอุบัติเหตุบินชนผนัง โดนแมวตะครุบ หลุดออกจากกรงแล้วบาดเจ็บเส้นด้ายรัดขาจนขาด นกเครียดจนจิกแทะตนเอง ปัญหาส่วนมาก
เกิดได้ง่ายและแก้ไขได้ยากทั้งสิ้น และเจ้าของมักมองข้ามไปไม่ใส่ใจที่จะพามาพบสัตวแพทย์ อาจเนื่องมาจากนกราคาไม่แพงและมองแต่ว่านกตัวนี้มันไม่ดีแล้ว ไปหาซื้อมาใหม่ดีกว่า ซึ่งเป็นการไม่ยุติธรรมต่อนกตัวเดิม เพราะเขาจะขาดความเอาใจใส่จากเจ้าของโดยทันทีที่นกตัวใหม่มาถึงบ้าน ทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่เต็มไปด้วยความทรมานครับ

ที่มา : หน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์