“เต่าแก้มแดง”มีชื่อสามัญว่า Red-eared Slider เป็นเต่าที่มีถิ่นกำเนิดจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา หาได้มาจากประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด

แต่ที่เราเรียกกันติดปากมาเช่นนี้ เพราะแต่ก่อนประเทศญี่ปุ่นนำเข้าเต่าชนิดนี้จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงในประเทศตนและมีการ เพาะพันธุ์ขายต่อกันมาเป็นทอดๆ กระจายกันไปทั่วทวีปเอเชียจึงเข้ามาสู่บ้าน เราได้ด้วยประการนี้ แต่ละปีทั่วโลกจะซื้อหาเต่าแก้มแดงเพื่อการเป็นสัตว์เลี้ยงมากมายหลายล้านตัว โดยฟาร์มที่เพาะพันธุ์ขนาดใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยก็สามารถเพาะพันธุ์ได้เช่นกันแต่ปริมาณไม่เพียงพอต่อ ความต้องการของตลาด จึงต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่เต่าแก้มแดงเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในน้ำมากกว่าบนบกเราจึงเรียกว่า“เต่าน้ำ”อีกทั้งมีสรีระร่างกายที่เอื้อประโยชน์ต่อการมีชีวิตอยู่ในน้ำอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้วตีน เพื่อช่วยในการว่ายน้ำ หนังตาใสๆ ไว้ปิดตาเมื่อดำน้ำคล้ายหน้ากากกันน้ำ เป็นต้น อาหารการกินก็ไม่ยากเพราะเป็นเต่าที่ชอบกินทั้งพืชและสัตว์ แต่ตอนเด็ก ๆ ชอบกินสัตว์มากกว่าพืชหรือต้องการโปรตีนเพื่อการเติบโตนั้นเอง ถ้าเราให้อาหารเม็ดสำหรับเต่าเป็นระยะเวลานานทำให้เต่าได้รับสารอาหารซ้ำๆ บางครั้งเราพบการขาดสารอาหารและวิตามินได้ ควรเสริมอาหารชนิดอื่นๆ บ้าง เพื่อความหลากหลายของสารอาหารและแก้ความจำเจ

Vestibulum id urna

ทีนี้เมื่อเราซื้อเขามาตั้งแต่ยังเด็กขนาดประมาณเท่าลูกปิงปองเราจะทำอย่างไรดี ?
ง่ายๆ เราก็เลือกซื้ออาหารเฉพาะสำหรับเต่าน้ำ (Aquatic turtle) ควรเลือกอาหารที่มีฉลากแปะข้างขวด เป็นภาษาที่ท่านสามารถอ่านได้เพราะเราจะเข้าใจส่วนประกอบของสารอาหารและทราบวันหมดอายุอีกด้วย ทีนี้ก็มาเตรียมสถานที่เลี้ยง เราทราบแล้วว่าเขาเป็นเต่าน้ำมาจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ก็ควรจะเลี้ยงในสภาพกึ่งธรรมชาติ เพราะเต่าต้องการพื้นที่ว่ายน้ำ พื้นที่สำหรับขึ้นมากินอาหารบวกกับการพักผ่อนบนบก และพื้นที่สำหรับการขึ้นมาตากแดดเพื่อสุขภาพที่ดี ขอแนะนำให้ใช้ตู้เลี้ยงปลาหรือบ่อธรรมชาติกลางแจ้งที่มีพื้นที่
แห้งและบ่อน้ำขนาดเล็ก แต่ต้องเพียงพอรองรับการเติบโตในอนาคต ได้ด้วยเพราะเต่าแก้มแดงเมื่อโตเต็มที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระดอง ไม่ต่ำกว่า ๓๐ เซนติเมตร หรือ ๑ ฟุตทีเดียว ส่วนความสูงของขอบบ่อหรือตู้ปลาก็ไม่ควรจะต่ำกว่า ๓๐ เซนติเมตร เพราะเต่าแก้มแดงปีนเก่งมาก ในบางครั้งถึงขั้นเหลือเชื่อทีเดียว

เต่าตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยสามารถแยกเพศด้วยการสังเกตตาเปล่าได้อย่างไร?
มีจุดให้สังเกตดังนี้ จุดแรก เล็บที่ขาหน้า เต่าตัวผู้จะมีเล็บยาวมากกว่าในตัวเมียด้วยเพราะต้องใช้ในการเกาะด้านข้างของกระดองตัวเมียเพื่อการผสมพันธุ์ จุดที่สอง รูปทรงกระดอง เมื่อนำมาวางเปรียบเทียบกันจะพบว่ากระดองของเต่าตัวเมียจะมีขนาดใหญ่และกว้างกว่าตัวผู้ เพราะต้องคอยรับการขึ้นขี่หลังของตัวผู้ระหว่างขั้นตอนการผสมพันธุ์ จุดสุดท้าย หาง ของเต่าตัวผู้จะยาวและเรียวกว่าเต่าตัวเมียมากแต่ถ้าเราซื้อเต่าเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ มาจะรู้ได้อย่างไร ? ก็ขอให้ท่านดูที่หางเป็นหลักครับ เพราะถ้านำมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่าตัวผู้จะมีหางยาวกว่าตัวเมียเล็กน้อย

Vestibulum id urna

 

โรคภัยไข้เจ็บและความผิดปกติต่างๆ ที่พบได้บ่อยในเต่าแก้มแดง
• ตาเจ็บและบวม จากภาวะขาดวิตามินเอ พบได้บ่อย ๆ ในเต่าแก้มแดงอายุน้อยที่เราเพิ่งซื้อมาเลี้ยงได้ประมาณ ๓–๔ เดือน และให้กินแต่อาหารเม็ดเท่านั้น เต่าจะใช้วิตามินเอซึ่งสะสมอยู่ในตับจนหมด โดยเต่าจะซึมไม่ค่อยกินอาหาร จากนั้นตาก็จะเริ่มบวมปิด พบฝ้าขาวในช่องปาก ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือว่ายน้ำ จึงควรนำเจ้าเต่าน้อยไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการฉีดวิตามินให้สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันสัก ๒ -๓ สัปดาห์ก็จะดีขึ้น ส่วนการป้องกันทำได้โดยผสมวิตามินเอชนิดแคปซูลลงไปในอาหารเม็ดสำหรับเต่าบ้าง หรือบางท่านก็ให้ตับหมูต้มหรือตับไก่ต้มเป็นอาหารเสริม
• จุดหนองสีเหลืองกระจายตามตัว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ภาวะนี้ก็เช่นเดียวกันที่พบในเต่าเล็ก ส่วนใหญ่พบหลังเพิ่งซื้อมาไม่เกินหนึ่งเดือน เต่าจะไม่กินอาหาร นอนซึม ไม่ว่ายน้ำ มีจุดหนองสีเหลืองกระจายตามตัว ยกเว้นส่วนกระดอง ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วนเพราะมีหลายตัวที่มารักษาไม่ทันเสียชีวิตไปเสียก่อน สาเหตุเกิดจากการเลี้ยงที่แออัดเกินไป น้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรก รวมถึงการให้อาหารที่ไม่ถูกต้องด้วย
• เนื้อตัวบวมออกมาจากกระดอง เพราะได้รับโปรตีนมากเกินไป หลายท่านคงเคยพบภาวะนี้ แต่เรามักคิดว่าเต่าอ้วน ซึ่งความจริงแล้ว ไอ้ที่ป่อง ๆ ออกมานั้นไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นของเหลวใสอันเนื่องมาจากภาวะท้องมานและไตวายโดยปกติการให้อาหารจำพวกโปรตีนแก่เต่าเล็ก ๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งมันมากเกินไปจน ทำให้ไตทำงานหนักเกินไปจนสูญเสียหน้าที่ได้ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้ง่าย แต่แก้ไขได้ยาก
• กระดองบิดผิดรูปมาจากการขาดแคลเซียมและแสงแดด ท่านทราบหรือไม่ว่าองค์ประกอบของการสร้างกระดองและโครงกระดูกของเต่านั้นประกอบด้วยแคลเซียมที่เพียงพอจากอาหาร วิตามินดีที่เพียงพอและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ถ้าองค์ประกอบดังกล่าวเหล่านี้ขาดหรือบกพร่องไปก็จะส่งผลอย่างแน่นอน ดังเช่นหลายท่านเลี้ยงเต่าแก้มแดงไว้ในห้อง หรืออยู่แต่ภายในบ้านและก็ให้อาหารเม็ดแต่อย่างดียว นำไปตากแดดบ้างบางครั้งเต่าก็สามารถเติบโตได้ แต่รูปทรงกระดองก็จะไม่สวยงามตามสายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะพบว่าขอบกระดองบิดขึ้นด้านบน แขนขาโค้งงอ บางตัวถึงขั้นกระดองบิดจนกระดูกสันหลังบิดไปด้วย สองขาหลังจึงใช้ไม่ได้และเป็นอัมพาตในที่สุดทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันด้วยการให้อาหารที่ถูกต้องและนำเต่ามาตากแดดอย่างสม่ำเสมอโดยเราจะสังเกตว่าเต่าที่เลี้ยงในบ่อกลางแจ้งจะไม่พบปัญหานี้

Vestibulum id urna
• กัดทะเลาะกันเป็นแผลตามตัว อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ส่งผลถึงขนาดของสถานที่เลี้ยงว่าไม่เพียงพอต่อจำนวนเต่าหรือคับแคบเกินไปนั่นเอง ส่วนแผลต่าง ๆ ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ทำการรักษา

ท่านผู้อ่านเห็นหรือไม่ว่าเจ้าเต่าแก้มแดงที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนั้น เป็นเต่าที่เลี้ยงได้ง่ายและมีความพิเศษในตัวเองเราสามารถเลี้ยงให้เขารอดชีวิตได้ง่าย ๆ แต่การเลี้ยงให้ดีและเต่ามีความสุขนั้น ต้องมีการเข้าใจถึงความต้องการทางธรรมชาติของเขา และให้ในสิ่งที่ร่างกายเขาต้องการเพียงเท่านี้ทั้งท่านและเต่าน้อยก็จะมีความสุขร่วมกัน เพราะเต่านี้มีอายุยืนพอสมควร เท่าที่มีการจดบันทึกไว้ก็ไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปีทีเดียวสุดท้ายขอให้ท่านโปรดจำไว้ว่า เต่าแก้มแดงนี้เป็นสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นหรือไม่ใช่เต่าของไทยนั้นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อท่าน ๆ ซื้อหามาเลี้ยงแล้ว ขอได้โปรดเลี้ยงเขาไปจวบจนสิ้นอายุขัยหรือจะเปลี่ยนเจ้าของก็ได้ แต่ต้องเป็นสัตว์เลี้ยงตลอดไปเพราะถ้าท่านนำเต่าแก้มแดงไปปล่อยตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติอย่างมาก เพราะเต่าแก้มแดงเป็นเต่าที่ปรับตัวหากินได้ดีมาก สามารถอยู่ได้ในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นจึงสามารถเบียดเบียนพื้นที่การหากินและวิถีชีวิตของเต่าพื้นเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเต่าบึงหัวเหลืองเต่าบัว และเต่าหับ เป็นต้น ในระยะยาวอาจส่งผลให้เต่าพื้นเมือง ของบ้านเราสูญพันธุ์ไปก็ได้

 

ที่มา : หน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์