การบริจาคร่างสุนัขเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นิสิตใช้เรียนในวิชากายวิภาคศาสตร์

   

           

 

เมื่อสมาชิกแสนรักในครอบครัว ที่ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงแต่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดได้ตายจากไป สิ่งสุดท้ายที่เราจะสามารถทำให้น้องหมา น้องแมวได้ คือการร่วมกันสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ด้วยการบริจาคร่างกายเค้าให้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ร่างของเค้าได้ก่อประโยชน์สูงสุดและเป็นวิทยาทานในการศึกษา วิจัย เพื่อเป็นองค์ความรู้ใช้ต่อยอดช่วยสร้างสัตวแพทย์ที่มีคุณภาพ และต่อชีวิตให้แก่สัตว์ป่วยอีกหลายๆชีวิต ดังเปรียบได้ว่า

 

"หนึ่งร่างให้ เพื่อหลายชีวิตรอด"


การผลิตสัตวแพทย์ที่มีคุณภาพแก่สังคม จำเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และการศึกษากายวิภาคศาสตร์ เป็นการศึกษาโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งนิสิตสัตวแพทย์ต้องนำไปใช้ในการต่อยอดการเรียนรู้วิชาการสาขาอื่นๆ โดยการศึกษาจากร่างกายของสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน เช่น application ยังไม่สามารถทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ตระหนักในความจริงที่ว่าการเรียนรู้จากร่างกายสัตว์ของจริง (อาจารย์ใหญ่) ไม่เพียงแต่เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลด้านการสร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่นิสิตให้เห็นคุณค่าของชีวิต ซึ่งในแต่ละปีภาควิชามีความจำเป็นในการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ได้รับการอุทิศร่างสัตว์จากเจ้าของที่มีใจเป็นกุศล และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิชาการทางสัตวแพทย์

คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ราวปีละ 220-250 ร่าง เพื่อให้นิสิตสัตวแพทย์ได้ศึกษาในสาขา กายวิภาคศาสตร์ พยาธิวิทยา และเวชศาสตร์คลีนิกสัตว์เลี้ยง แต่ที่ผ่านมายังขาดแคลนร่างที่ได้รับบริจาคอยู่จึงอยากขอเชิญชวนให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่าน ร่วมสร้างมหากุศลให้สัตว์เลี้ยงของท่านในวาระสุดท้าย โดยร่วมทำบุญบริจาคร่างน้องที่เสียชีวิตเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นิสิตได้ศึกษา วิจัย ต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป

 

 

 

ความในใจจากเจ้าของน้องวิจิตร แขกที่เข้าร่วมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ใช้ในการเรียน 

"น้องได้รับการรรักษาดูแลอย่างดีที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอด ตอนน้องเสียก็ตั้งใจว่าอยากจะให้น้องได้เป็นประโยชน์ในวาระสุดท้าย จึงมีความตั้งใจอยากให้น้องได้มาเป็นร่างให้นิสิตสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ต่อยอดความรู้เพื่อไปใช้รักษาช่วยสัตว์ป่วยอื่นต่อไป ยังเสียใจอยู่ที่น้องต้องจากไปแต่ก็ดีใจที่น้องได้มีโอกาสเป็นผู้ให้เมื่อนึกถึงครั้งใดก็สุขใจ และรู้สึกประทับใจรูปแบบกิจกรรมที่ทางคณะจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่น้อง ถือว่าให้เกียรติกับเจ้าของและน้องๆทุกร่าง ในฐานะที่น้องจะได้เป็นอาจารย์ใหญ่ ที่ให้ความรู้และประสบการณ์แก่นิสิต บรรยากาศในงานรู้สึกประทับใจและสัมผัสได้ถึงความรักที่เจ้าของทุกท่านมีต่อน้องๆ ที่ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง เค้าเป็นสมาชิกและเพื่อนที่ดีที่สุด วันที่เค้าจากไปก็อยากจะทำให้ดีที่สุดให้เค้าในครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นกุศลให้น้องต่อไป"

 

 

ร่างที่รับบริจาคถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง 

ร่างสัตว์เลี้ยงที่ถูกบริจาคจะได้รับการคัดกรองเพื่อส่งต่อไปให้นิสิตได้ศึกษา 3 สาขา ได้แก่

  1. สาขากายวิภาคศาสตร์ เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการผ่าร่างสุนัข ศึกษาตำแหน่ง โครงสร้างต่างๆของร่างกายที่ปกติ และเป็นพื้นฐานต่อยอดการนำไปใช้เรียนทางคลินิก โดยร่างสัตว์จะต้องถูกนำมาแช่น้ำยาถนอมซากและฉีดสารเข้าทางเส้นเลือด ดังนั้นทางภาควิชาจึงขอรับเฉพาะซากที่สมบูรณ์ ไม่เป็นเนื้องอก ไม่มีการฉีกขาดของอวัยวะ หรือถูกตัดอวัยวะออก (คุณสมบัติตามข้อกำหนด) รับบริจาคร่างที่มีประวัติการรักษาและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และรับร่างที่ไม่ใช่เคสของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากขาดแคลน โดยขอให้มีประวัติการรักษาก่อนเสียชีวิตแนบท้ายด้วย

  2. สาขาพยาธิวิทยา เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการผ่าซาก ศึกษารอยโรค เชื่อมโยงกับอาการป่วยทางคลินิกและชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตและศึกษาทางพยาธิวิทยา รับเฉพาะเคสที่มีประวัติการรักษาและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

  3. สาขาเวชศาสตร์คลีนิกสัตว์เลี้ยง เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทำหัตถการและผ่าตัด รับเฉพาะเคสที่มีประวัติการรักษาและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

           


ข้อกำหนดคุณสมบัติของสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาจารย์ใหญ่ให้สาขากายวิภาคศาสตร์ได้ 

  1. สุนัขมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 8-20 กิโลกรัม แมวมีน้ำหนัก 5 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่จำกัดอายุ เพศ พันธุ์
  2. มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะหรืออวัยวะขาดหาย ยกเว้นได้รับการทำหมัน
  3. ไม่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกและเส้นเลือดเสียหาย เพราะจะไม่สามารถฉีดน้ำยารักษาสภาพซากได้
  4. ไม่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น พิษสุนัขบ้า ฉี่หนู หรือวัณโรค
  5. ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อย่างเหมาะสม
  6. ถ้าสัตว์เสียชีวิตแล้วให้นำร่างมาส่งภายใน 4-6 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่สามารถนำมาส่งได้ภายใน 6 ชั่วโมง แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
       -  แช่ในตู้เย็น 0-4 องศาเซลเซียส หรือแช่แข็ง
       -  หากไม่มีตู้แช่ ให้นำร่างสัตว์ใส่ถุงพลาสติกปิดปากให้สนิทแล้วใส่ลังโฟม โดยรองน้ำแข็งด้านล่าง
       -  วางถุงที่บรรจุร่างสัตว์ ปูทับด้วยน้ำแข็งด้านบนและปิดฝา
       -  นำร่างมาส่งในเวลาที่กำหนด
  7. รายละเอียดอื่นๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และหัวหน้าภาคกายวิภาคศาสตร์

 

ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์  

  1. เจ้าของสัตว์โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ และนำร่างสัตว์มาที่ตึกกายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมหลักฐานการฉีดวัคซีน (สามารถโทรปรึกษาเพื่อวางแผนการอุทิศร่างสัตว์ก่อนที่สัตว์เสียชีวิตได้ ในเวลาราชการ)
  2. เจ้าหน้าที่ประเมินสภาพร่างสัตว์ หากร่างสัตว์สมบูรณ์ จะขอรับเพื่อใช้ในการศึกษาและวิจัย
  3. เจ้าของกรอกข้อมูลในใบยินยอมบริจาคร่างสัตว์ ขอให้กรอกข้อมูลให้สมบูรณ์ เพื่อการติดต่อประสาน
  4. กรณีเป็นเคสที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ให้แจ้งที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ฉุกเฉิน สัตว์ป่วยวิกฤติ ว่าต้องการบริจาคร่างให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ หรือติดต่อภาควิชาได้โดยตรงในเวลาราชการ
  5. เมื่อทำการศึกษาเสร็จแล้ว ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะแจ้งให้เจ้าของทราบ และเชิญมาร่วมพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งทางคณาจารย์และนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์จะร่วมกันประกอบพิธีในวันไหว้ครู

 

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ขอสงวนสิทธิ์การปฏิเสธการรับร่างสัตว์ ดังนี้  

  1. สภาพไม่เหมาะสมแก่การนำมาศึกษา เช่น ร่างเน่าเปื่อย อวัยวะขาดหาย ร่างกายผิดรูป หรือมีแผลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์
  2. สถานที่รองรับร่างสัตว์เต็ม
  3. เหตุสุดวิสัยอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ชำรุด ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าภาคกายวิภาคศาสตร์

** ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ขออภัยล่วงหน้า สำหรับร่างสัตว์ที่ไม่สามารถรับได้ตามกรณีดังกล่าวข้างต้น **

 

ความในใจจากนิสิตสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ถึงเจ้าของน้อง  

พวกเรานิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณท่านที่กรุณาเสียสละบริจาคร่างน้องๆ อันเป็นที่รักให้พวกเราได้นำมาใช้ศึกษา เพิ่มพูนความรู้และทักษะอย่างมากมาย พวกเราขอสัญญาว่าจะใช้ร่างน้องให้คุ้มค่าและจะตั้งใจนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ต่อยอดเพื่อช่วยเหลือชีวิตสัตว์ตัวอื่นอย่างสุดความสามารถและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไปในอนาคตอีกมากมาย

 

 

 "การเสียสละของท่านมีความหมายมากสำหรับพวกเรา"
- ด้วยความเคารพ

ใช้ร่างเพื่อเรียนมหกายวิภาคศาสตร์  

 หลังได้รับร่างสัตว์แล้ว ร่างที่ผ่านเข้าเกณฑ์เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่สำหรับการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์จะถูกเก็บรักษาให้คงสภาพไม่เน่าเปื่อยด้วยน้ำยาคงสภาพ นิสิตสัตวแพทย์จะเรียนรู้ศึกษาร่างอาจารย์ใหญ่แต่ละร่างราว 1-2 ปี และในคาบสุดท้ายของการเรียนชำแหละร่างอาจารย์ใหญ่ วิชามหกายวิภาคศาสตร์ ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์และนิสิตจะเตรียมดอกไม้มาเพื่อไหว้ร่างอาจารย์ใหญ่เป็นการแสดงความกตัญญูและระลึกถึงพระคุณครูที่เสียสละร่างให้ได้ใช้เรียนตลอดปีการศึกษา ก่อนจะส่งร่างน้องไปเผาตามขั้นตอน

 

ทำบุญอุทิศให้อาจารย์ใหญ่  

หลังจากใช้ร่างเสร็จสิ้นแล้วทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จะมีการจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ใช้ในการเรียนทุกร่าง ที่คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งจะจัดตรงกับวันไหว้ครูของคณะ โดยจะมีการเชิญเจ้าของล่วงหน้า (กรณีที่ถูกเชิญแสดงว่าร่างของน้องได้ถูกนำขึ้นมาใช้เพื่อการศึกษาแล้ว ในบางครั้งที่ไม่ถูกเชิญอาจเกิดจากข้อมูลในการกรอกไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ทางภาควิชาต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย) ในงานจะมีพิธีสวดบังสุกุล ถวายสังฆทาน แสดงธรรมเทศนา ถวายเพล ส่งท้ายด้วยการกล่าวคำขอบคุณจากคณบดี นิสิต การกล่าวความในใจของเจ้าของ และในงานจะมีบอร์ดแสดงความขอบคุณจากนิสิตและบอร์ดให้เจ้าของเขียนความในใจเพื่อระลึกถึงน้อง โดยคณาจารย์ นิสิต บุคลากรของคณะฯ รวมทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะได้รับเชิญให้มาร่วมงานบุญและรับประทานอาหารกลางวันเพื่อแสดงความขอบคุณแก่เจ้าของและร่างอาจารย์ใหญ่เป็นประจำทุกปี

 

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคร่างให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ได้ที่  

สถานที่ : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ในวันและเวลาราชการ)
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-579-7539 หรือ 02-797-1900 ต่อ 4706 คุณอภันตรี ด้วงเงิน
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.