ปฏิบัติการพาพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนป่าเมืองไทย
การจับมือกันของ 4 องค์กร ด้วยความหวังจะได้เห็นพญาแร้ง ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศน์ผงาดปีกในป่าเมืองไทยอีกครั้ง
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 กลางป่าห้วยขาแข้ง
พญาแร้งฝูงหนึ่งกำลังจิกทึ้งกินซากเก้ง โดยที่พวกมันไม่รู้เลยว่านั่นคืออาหารมื้อสุดท้ายในชีวิต นี่คือโศกนาฏกรรมของพญาแร้งฝูงสุดท้ายในป่าเมืองไทย เมื่อพรานกลุ่มหนึ่งวางยาเบื่อในซากเก้ง เพื่อหวังว่าเมื่อเสือมากิน เขาก็จะได้หนังเสือผืนใหญ่ที่ไร้รอยกระสุนปืน แต่นับเป็นโชคร้ายของพญาแร้งที่ลงมากินซากก่อน จนทำให้พวกมันตายยกฝูง และสายพันธุ์ของพวกมันขึ้นแท่น ‘สูญพันธุ์จากธรรมชาติ’ ในป่าเมืองไทยนับแต่บัดนั้น
สิ่งที่หายไปไม่ใช่เพียงแค่นกหนึ่งชนิด แต่คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเทศบาลและกองควบคุมโรคของผืนป่า
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสูญเสียแร้ง แปลว่าเราขาดผู้เล่นที่สำคัญมากในระบบนิเวศ เพราะแร้งเป็นนักกินซาก เขาทำลายซากสัตว์ได้รวดเร็วมาก ถ้าไม่มีแร้ง ซากเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยไว้จนเน่า ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคระบาด เช่น แอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้วัวควายตายเฉียบพลัน สามารถติดสู่คนและอาจถึงแก่ชีวิต”
น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ และฝ่ายงานวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงความสำคัญของแร้ง
เกือบ 30 ปี ที่พญาแร้งหายไปจากธรรมชาติของเมืองไทย ในวันนี้ คนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมหมดหวัง พวกเขากำลังวางแผนเพาะพันธุ์พญาแร้งที่เหลืออยู่ในกรงเลี้ยง เพื่อหวังว่าสักวันในผืนป่าประเทศไทยจะมีพญาแร้งโผบินอีกครั้ง โดยงานใหญ่ครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในชื่อโครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ แต่โจทย์นี้ไม่ง่าย เพราะการจะทำให้สัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนมา ยากยิ่งกว่าการทำให้มันหายไปหลายเท่านัก
พญาแร้งกินซากวัว
เมื่อเทศบาลหายไป
แม้ว่าแร้งจะไม่ใช่สัตว์ที่หน้าตาน่ารักและเป็นขวัญใจของคนทั่วไปสักเท่าไหร่ แต่การมีอยู่ของพวกมันสำคัญต่อสุขภาพของเราอย่างคาดไม่ถึง
“แร้งมีความสำคัญมากในการควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค มีงานวิจัยที่แอฟริกาทดลองเอาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ รวมถึงเชื้อแอนแทรกซ์ใส่ในซากวัวให้แร้งกิน แล้วนำมูลแร้งไปเพาะเชื้อ พบว่าไม่เจอเชื้อก่อโรคเลย เหตุผลก็คือในกระเพาะอาหารของแร้งมีความเป็นกรดสูงมาก ฆ่าเชื้อได้หมด” ดร.ไชยยันต์ เล่าย้ำถึงเหตุผลที่ทำให้แร้งเป็นนักควบคุมโรคชั้นดี
ในทางตรงกันข้าม หากมีซากสัตว์ตายสักตัวแล้วไม่มีแร้งคอยกำจัดซาก ซากนั้นก็จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี ซึ่งปนเปื้อนสู่ดิน สู่น้ำ และอาจก่อให้เกิดโรคติดต่อในสัตว์ป่า รวมทั้งอาจติดมาถึงคนได้ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดเกิดขึ้นที่อินเดีย ที่นั่นมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ แสดงถึงผลกระทบที่ชัดเจนจากการหายไปของแร้ง
“ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มียาต้านอักเสบตัวหนึ่งที่ผลิตง่ายและฤทธิ์ค่อนข้างแรง ชาวบ้านจะใช้รักษาเวลาวัวเจ็บข้อเจ็บกีบ ด้วยความที่ชาวบ้านเป็นฮินดูจึงไม่กินวัว พอวัวตายก็ไปกองรวมกัน ปล่อยให้เน่าตามธรรมชาติ ไม่ได้ถูกส่งเข้าโรงฆ่า วัวที่ตายก็เป็นอาหารของแร้ง แต่ในวัวที่ได้รับยาที่มีการสะสมในกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะตับและไต พอแร้งไปกิน ก็ทำให้แร้งไตวาย มีการประเมินว่าที่อินเดีย แร้งเทาหลังขาว (White-rumped vulture) (Gyps bengalensis), พญาแร้ง (Red-headed vulture) (Sarcogyps calvus) และแร้งสีน้ำตาล (Slender-billed vulture) (Gyps tenuirostris) ตายเพราะยานี้กว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์”
ดร. ไชยยันต์ให้ข้อมูลว่า ที่อินเดียในสมัยก่อน เราเห็นภาพฝูงแร้งนับร้อยลงกินซากวัวเป็นปกติ แต่มาวันนี้ ภาพนั้นแทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว และแร้งก็มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ผลที่ตามมาก็คือซากวัวกองพะเนินเทินทึก
“พอไม่มีพนักงานกำจัดซากแล้ว ใครมาใช้ประโยชน์จากซากเหล่านั้น… ก็คือสุนัขจรจัด พอสุนัขมีอาหารมากขึ้น ก็ขยายพันธุ์มีลูกมากขึ้น เข้าไปชุมนุมในแหล่งซากวัวมากขึ้น มันก็มีการแย่งกัน กัดกัน ซึ่งสภาพเหล่านั้นเอื้อต่อการแพร่ของโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นเชื้อไวรัส งานวิจัยชิ้นนั้นสำรวจพบว่า พอแร้งลดลง ความชุกหรือปรากฏการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนที่โดนหมาจรจัดกัดก็มีมากขึ้น”
บทบาทของแร้งไม่ได้มีแค่การเป็นหน่วยควบคุมโรคเท่านั้น แต่ในบางครั้งแร้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชนิดที่มันเองก็ไม่รู้ตัวด้วย “แร้งโลกเก่า (แร้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป) มีสายตาที่ดีมากๆ มองเห็นได้ 2-4 กิโลเมตร พวกมันจึงเป็นสัตว์กลุ่มแรกที่มองเห็นซาก อย่างกรณีที่แอฟริกา เวลามีการลักลอบยิงสัตว์ ฆ่าช้างเอางา พอแร้งเห็นก็ไปร่อนรวมกัน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่ามีสัตว์ตาย ซึ่งก็อาจหมายถึงว่ามีพรานลักลอบล่า”
แต่ประโยชน์ที่มันทำกลับกลายเป็นภัยต่อตัวมันเองโดยไม่รู้ตัว เพราะนั่นทำให้พรานไม่ชอบแร้ง จนบางทีก็ถึงขั้นวางยาเบื่อ ทำให้แร้งตายเป็นร้อยตัวพร้อมกัน นอกจากนั้น สารพิษจำพวกตะกั่วหรือโลหะหนักที่เกิดจากกระสุนปืนในซากสัตว์ที่แร้งไปกิน ก็เป็นภัยคุกคามของแร้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทย ปัญหาชีวิตของแร้งมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง ทัศนคติที่คนมีต่อแร้งไม่ดีนัก เนื่องจากแร้งมักปรากฏให้เห็นพร้อมกับซาก ผู้คนจึงมองว่ามันเป็นสัตว์อัปมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความตาย แร้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดก็มักถูกกำจัดเพียงเพราะความรังเกียจ และสอง ซากสัตว์ที่เป็นอาหารของแร้งลดลง โดยถ้าเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เวลามีคนหรือสัตว์ตาย ชาวบ้านก็ปล่อยซากไว้ ทำให้แร้งมีอาหารเพียงพอ แต่เมื่อระบบสาธารณสุขดีขึ้น ศพมนุษย์มีการฝังหรือฌาปนกิจ ซากสัตว์มีการฝังกลบ ส่วนปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ ก็มีการส่งโรงฆ่า ทำให้แร้งในเมืองไม่มีอาหารและหายไป ส่วนในป่าการลดลงของเสือโคร่งหรือสัตว์ผู้ล่าก็ทำให้ซากสัตว์ที่เป็นอาหารแร้งลดลงเช่นกัน
จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด ซึ่งพญาแร้งคือหนึ่งในนั้น มาวันนี้ น่านฟ้าประเทศไทยไม่มีแร้งประจำถิ่นหลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว แต่ในอนาคตต่อจากนี้ ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไป
กว่าพญาแร้งจะโบยบิน
แม้ที่ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ฯ จะประสบความสำเร็จในโครงการฟื้นฟูนกกระเรียนไทย จนนกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติผสมพันธุ์และมีลูกได้เองในถิ่นอาศัย แต่สำหรับพญาแร้ง โจทย์นี้ยากกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้
ความยากที่หนึ่ง กว่าพญาแร้งจะวางไข่
“ความยากข้อแรก คือ Breeding Stock หรือประชากรที่เราจะใช้ผสมพันธุ์ เรามีอยู่แค่ห้าตัวทั่วประเทศ” ดร. ไชยยันต์ กล่าวถึงความท้าทายแรก หากเทียบกับวันที่เริ่มต้นโครงการนกกระเรียนไทย ตอนนั้นเรามีนกกระเรียนไม่ต่ำกว่า 50 คู่
“ต่อมาคือด้วยความที่แร้งมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่านกอินทรี ปีกยาว 2-3 เมตร ทำให้อัตราการผสมพันธุ์ต่ำ เขาวางไข่แค่หนึ่งใบต่อปีเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และอัตรารอดของลูกนกตั้งแต่ฟักเป็นตัวจนกระทั่งจับคู่ใหม่มีแค่ยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ ก็ยิ่งทำให้เวลาที่สูญเสียแร้งในธรรมชาติ มันฟื้นตัวได้ช้า ในขณะที่นกกระเรียนมีลูกได้ครั้งละ 1-3 ตัว และผสมเทียมได้”
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความยากก็คือ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่องค์การสวนสัตว์ฯ พยายามเพาะพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยง แต่ก็ยังไม่เคยมีพญาแร้งที่วางไข่จนฟักออกมาเป็นตัวได้เลย
ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ แห่งองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เหตุผลว่า “สัตว์กลุ่มนี้ถ้าปัจจัยไม่เอื้ออำนวย เขาก็จะไม่ผสมพันธุ์ ไม่เหมือนไก่หรือนกน้ำที่ครบหนึ่งปีก็ถึงวงรอบวางไข่ ปัจจัยหลักๆ คืออาหารต้องอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในกรงเลี้ยงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาหลักอยู่ที่สภาพแวดล้อม เนื่องจากในธรรมชาติเขาทำรังอยู่บนยอดไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เงียบมากๆ ถ้ามีปัจจัยคุกคามหรือสิ่งเร้า เขาก็จะไม่ทำรังวางไข่ ข้อจำกัดนี้ทำให้เรายังไม่สำเร็จ ก็เลยเกิดเป็นโครงการเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งที่เราจะนำกลับไปที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของเขา”
เมื่อโครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ เริ่มขึ้น และมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้คำแนะนำ แนวทางการฟื้นฟูก็ดูมีความหวังมากขึ้น
“ตอนที่เราทำกันแค่ในองค์การสวนสัตว์ฯ เราพุ่งไปที่การสร้างกรงเพื่อให้ตัวผู้ตัวเมียเข้าไป แต่พอได้คุยกับทางผู้เชี่ยวชาญ เราก็หันมาเริ่มที่ตัวนกก่อน คือการตรวจสุขภาพภาพรวมทั้งหมด เหมือนคนที่ต้องทำเรื่องตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เพราะพญาแร้งที่เรามีอยู่กับเรามาแล้ว 20-30 ปี เราไม่รู้ว่าวันนี้เขาอายุเท่าไหร่จากอายุขัย 50-60 ปี พอเราเจอว่านกเรามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เราก็ฟื้นฟู ซึ่งโชคดีว่าสุขภาพแต่ละตัวพอให้เราเดินหน้าต่อได้”
นอกจากการฟื้นฟูสุขภาพ ปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงหลังจากเริ่มโครงการ คือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของกรง โดยการย้ายพญาแร้งจากโซนจัดแสดงไปในโซนฟื้นฟู ซึ่งเป็นโซนที่นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป เมื่อพญาแร้งได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ไร้ผู้คนรบกวน ผลที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาคือ พญาแร้งคู่หนึ่งชื่อเจ้าตาล-เจ้านุ้ย ได้จับคู่ผสมพันธุ์ และเจ้านุ้ยก็วางไข่ใบแรกในรอบ 20 ปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผลสุดท้ายไข่ใบนั้นแตก ทีมงานสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะวัสดุรองรัง เช่น กิ่งไม้ มีน้อยไป หรือไม่ก็ขาดแคลเซียม
“ความยาก คือ ในไทยหรืออาเซียนยังไม่เคยมีองค์ความรู้ด้านนี้ ส่วนองค์ความรู้ของต่างประเทศที่มีก็เป็นแร้งคนละกลุ่ม ที่ทวีปอเมริกาเป็นแร้งโลกใหม่ ของเราเป็นแร้งโลกเก่า ความยากง่ายก็ต่างกัน เราต้องลองผิดลองถูก ต้องนับหนึ่งใหม่ว่าเขาจับคู่กันยังไง เกี้ยวพาราสียังไง รังเป็นยังไง กิ่งไม้รองรังเป็นขนาดไหน ต้องให้อาหารยังไง เราก็ต้องอ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในธรรมชาติ ครั้งต่อไป เราก็จะต้องใส่กิ่งไม้ให้หลายๆ ขนาด แล้วให้ตัวเมียเลือกว่าจะใช้กิ่งไหนบ้าง”
นอกจากคู่เจ้าตาล-เจ้านุ้ย พญาแร้งอีกคู่ที่เป็นความหวังก็คือเจ้าป๊อก-เจ้ามิ่ง เจ้าป๊อกเป็นตัวผู้ที่ถูกย้ายจากสวนสัตว์นครราชสีมา เพื่อมาเทียบคู่กับเจ้ามิ่งตัวเมียที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง “เจ้ามิ่งเป็นความหวังของเรามาก เพราะสุขภาพดีมาก และแสดงพฤติกรรมเข้าสู่วงจรผสมพันธุ์อย่างน้อยสองปีติดต่อกัน เพียงแค่ตัวผู้เดิมป่วยและตาย เราเลยเลือกตัวผู้ที่สมบูรณ์ที่สุดจากสวนสัตว์นครราชสีมามาเทียบคู่” ดร.ไชยยันต์เล่าเสริม
เจ้ามิ่ง, นกแร้งตัวเมียในกรงรอการเทียบคู่
เจ้าป๊อก, นกแร้งตัวผู้ในกรงเพาะพันธุ์
คำว่า ‘การเทียบคู่’ หมายถึง การนำตัวผู้กับตัวเมียให้มาอยู่กรงใกล้กัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนที่จะปล่อยเข้าสู่กรงเดียวกัน เพราะปกติพญาแร้งตัวเมียค่อนข้างหวงอาณาเขต ซึ่งในขั้นตอนการเทียบคู่ จะมีนักวิจัยคอยสังเกต 24 ชั่วโมง โดยสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าทั้งคู่ยอมรับกัน ก็คือเมื่อวางอาหารไว้ใกล้กัน แล้วทั้งคู่กินพร้อมกันได้
จากนั้นหากทั้งคู่ตกลงปลงใจ ตัวผู้จะมีพฤติกรรมคาบกิ่งไม้ไปสร้างรัง ตัวเมียก็จะไปตรวจรัง อาจมีตกแต่งบ้าง หากพอใจก็จะยอมให้ตัวผู้ขึ้นผสม ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าป๊อกมีพฤติกรรมคาบกิ่งไม้บ้าง แต่ยังไม่มีการสร้างรัง ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้เจ้าป๊อกมีอาการบาดเจ็บที่ขาและแผลอักเสบ จึงต้องกลับมาฟื้นฟูที่สวนสัตว์นครราชสีมาอีกครั้ง
เรื่องราวของคู่จิ้นคู่นี้ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปในฤดูผสมพันธุ์ครั้งหน้า ซึ่งจะเริ่มราวเดือนตุลาคม ในตอนนั้นนายป๊อกก็อาจมีคู่แข่งใหม่ชื่อนายแจ็ค ที่จะมาแข่งกันพิชิตใจสาวมิ่ง และเมื่อถึงวันนั้น กรงใหญ่ขนาด 20 x 40 เมตร สูง 20 เมตร ที่ซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ก็น่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเป็นบ้านแห่งใหม่ให้คู่หนุ่มสาวพญาแร้ง และหากลูกนกเกิดมา ก็ฝึกบินในนั้นได้
ความยากที่สอง – กว่าจะโบยบินสู่ธรรมชาติ
การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมจนพญาแร้งวางไข่ว่ายากแล้ว การดูแลลูกพญาแร้งที่ฟักออกมาจนกระทั่งพร้อมโบยบินออกสู่ธรรมชาติ ก็ไม่ได้ง่ายไปกว่ากัน
“หลังลูกนกออกจากไข่ เราต้องมีกระบวนการหลายอย่าง ต้องฝึกเรื่องอาหารให้เขารู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ให้เขารู้ว่ามีอาหารอะไรในธรรมชาติบ้าง ในกลุ่มนกกินซากจะใช้ซากในธรรมชาติแบบต่างๆ มีการฝึกกล้ามเนื้อโดยผูกอาหารกับกิ่งไม้ ให้เขาได้ลาก ได้ฉีก” ชัยอนันต์เล่าถึงแผนในอนาคต หากพญาแร้งวางไข่สำเร็จและฟักเป็นตัว
เฝ้าสังเกตุการณ์พฤติกรรมอีแร้ง
นอกจากนั้น การเตรียมพร้อมลูกนกยังต้องมีการฝึกกล้ามเนื้อในการบิน จนกระทั่งเมื่อเตรียมพร้อมจะปล่อย ก็ต้องมีการจำกัดคนที่จะเข้าไปใกล้กรง เพื่อให้นกไม่คุ้นกับคนจนเกินไป รวมถึงการติดตั้งระบบติดตาม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณวิทยุหรือดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับอนาคต
ส่วนการเลือกพื้นที่ที่จะปล่อยก็มีความสำคัญ ไม่ใช่แค่เปิดกรงให้แร้งบินขึ้นฟ้าแล้วจบ เพราะไม่ใช่พื้นที่ทุกแห่งที่แร้งจะอยู่รอดได้ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มีอาหาร มีซากสัตว์เพียงพอ ซึ่งเกี่ยวพันกับการมีอยู่ของเสือโคร่ง “ห้วยขาแข้งเป็นความหวังเดียวที่จะฟื้นฟูพญาแร้งกลับมาได้ เพราะนี่คือที่อยู่อาศัยเดิมของมัน และที่นี่ก็เป็นที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุด เพราะเสือเป็นนักล่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดซาก การมีอยู่ของเสือจึงเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของแร้ง ซึ่งทุกวันนี้กรมอุทยานฯ ก็เข้มงวดในการดูแลพื้นที่มากขึ้น ที่ผ่านมาประชากรเสือโคร่งในป่าตะวันตกเพิ่มขึ้น ก็เป็นความหวังที่แร้งจะอยู่ได้” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ บอกเล่าเหตุผลที่ทำให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่ที่เหมาะสมกับพญาแร้ง
อย่างไรก็ตาม งานที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การฟื้นฟูพญาแร้งในธรรมชาติสำเร็จได้ หากขาดซึ่งปัจจัยข้อสุดท้าย นั่นคือ…
การฟื้นตัวของประชากรในแหล่งกำเนิดของอีแร้งหัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ความยากที่สาม – ปล่อยแล้วต้องรอด
หากปัจจัยที่ทำให้แร้งสูญพันธุ์จากธรรมชาติคือมนุษย์ การที่จะปล่อยแร้งกลับไปโดยที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็อาจมีค่าเท่ากับการปล่อยแร้งกลับไปตาย และนั่นจึงเป็นภารกิจของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่จะเตรียมพร้อมสร้างความเข้าใจให้ผู้คนในท้องที่ รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อแร้ง ไม่ใช่มองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายอย่างที่ผ่านมา
ปฏิบัติการต้านภัยแร้ง
“มูลนิธิสืบฯ ได้รับงานมาสามส่วน คือประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการเรียนรู้และความตระหนักในการอนุรักษ์พญาแร้ง การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์และอาสาสมัครดูแลพญาแร้งก่อนปล่อย และงานระดมทุน” อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกเล่าถึงงานที่รับผิดชอบ
สำหรับงานประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจนั้น อรยุพาเล่าว่ามีอยู่ 2 ส่วนคือ สาธารณชนทั่วไปและประชาชนในพื้นที่รอบๆ ห้วยขาแข้ง โดยเน้นที่อำเภอลานสัก
“ในส่วนแรก มูลนิธิสืบฯ ก็จะต้องเอาข้อมูลความสำคัญของแร้งในเชิงระบบนิเวศ แปลงเป็นสารที่เข้าใจง่าย สื่อผ่านเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์มูลนิธิฯ ส่วนประชาชนรอบห้วยขาแข้ง ที่วางแผนไว้คือจะมีงานเยาวชน ทำค่ายให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศ ซึ่งจะเชื่อมไปจนถึงสัตว์ตัวสุดท้ายในระบบนิเวศที่เป็นตัวกำจัดซากก็คือแร้ง ส่วนประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่ มูลนิธิสืบฯ มีประชุมเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้วกับเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ ก็เป็นโอกาสที่เราจะแทรกเรื่องนี้เข้าไป โดยอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพญาแร้งมาให้ข้อมูลด้วย”
นอกจากนั้น ทางทีมงานก็มีแผนจะสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่จะมาช่วยดูแลพญาแร้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมอาหาร ทำความสะอาดกรง เก็บข้อมูล และจดบันทึก
“พญาแร้งน่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน การเปิดรับอาสาจะทำให้เกิดการซึมซับและความเข้าใจ แล้วก็จะทำให้เกิดการสื่อสารปากต่อปากว่าแร้งมีความสำคัญยังไง จริงๆ เรามีแผนจะสำรวจทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อแร้งด้วย เพื่อที่เราจะได้นำเครื่องมือในการสื่อสารไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ติดสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เรายังเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ไม่ได้”
แม้หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการที่พญาแร้งขยายพันธุ์และมีลูกได้เองในธรรมชาติ แต่นั่นก็เป็นความท้าทายที่ต้องทำงานอีกหลายปี รวมถึงปัญหาในระยะยาวเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต้องคำนึงถึงด้วย ซึ่ง ดร.ไชยยันต์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
“โชคดีที่พญาแร้งที่เรามีอยู่ พ่อนกกับแม่นกมีพันธุกรรมต่างกัน ทำให้ในระยะสั้นห้าปี สิบปี ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งต่างจากอิตาลีที่พ่อนกแม่นกมาจากครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดปัญหาเลือดชิดสูงมาก ซึ่งที่นั่นก็อาจเป็นความหวังในการแก้ปัญหาลำดับต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสวนสัตว์ เพราะพญาแร้งไม่ใช่สัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติของทวีปยุโรป และหลักของการปล่อยสัตว์ป่าคืนธรรมชาติ ต้องไม่ปล่อยสัตว์ที่ไม่เคยมีในธรรมชาติที่นั่น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราอาจขอลูกพญาแร้งจากสวนสัตว์อิตาลีมา เพื่อเติมเต็มพันธุกรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราก็ติดต่อเขาแล้วว่า ปีหน้าขอความร่วมมือให้มาจัดเวิร์กช็อปถ่ายทอดความรู้ในการเพาะพันธุ์ให้สวนสัตว์ของเราด้วย”
เมื่อพูดถึงความท้าทายของงานนี้ อรยุพากล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำ เหมือนเรากำลังทำแข่งกับเวลา เพราะแร้งแต่ละตัวอายุก็ไม่ใช่น้อยแล้ว ยี่สิบกว่าขึ้นทุกตัวเลย ในที่ประชุมเราคุยกันเล่นๆ ว่า โครงการแร้งจะทำกันไปถึงเมื่อไหร่ คำตอบก็คือ ก็ทำจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง”
จากความพยายามและทุ่มเทของคนกลุ่มนี้ อาจเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่า อย่าปล่อยให้สัตว์ชนิดใดสูญพันธุ์อีกเลย เพราะการทำให้สูญพันธุ์อาจใช้เวลาแค่ชั่วพริบตา แต่การจะฟื้นฟูกลับมาต้องใช้เวลาและความพยายามอีกหลายสิบปี
ประชุมเตรียมโครงการที่สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เครดิต
- บทความต้นฉบับ โดย เมธิรา เกษมสันต์
- The Cloud, The magazine on cloud
- ภาพจาก ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว